หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทำพิษ

หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทำพิษ

การร่วงลงของหุ้นยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่ก่อนหน้านี้เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้นให้เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่อจุดอ่อนในการซื้อขายหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และทำให้เกิดความกังวลว่าหุ้นหลายตัวที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไปจะเผชิญกับความผันผวนที่มากขึ้น

รายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่น่าผิดหวังจากเทสลา (Tesla) และอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (Google) จุดชนวนให้เกิดการเทขายหุ้นในตลาดอย่างรุนแรงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ก.ค.) โดยดัชนี Nasdaq Composite ที่เน้นบริษัทด้านเทคโนโลยีร่วงลง 3.6% ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2565 ส่วนดัชนี S&P 500 ปรับลดลง 2.3% โดยรายงานผลประกอบการก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่กำลังจะเปิดเผยจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อื่น ๆ

โทมัส มาร์ติน (Thomas Martin) ผู้จัดการกองทุนอาวุโสของบริษัท โกลบอลท์ (GLOBALT) กล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่ได้ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีสารสนเทศและบริษัทที่มุ่งเน้นการเติบโตจำนวนมากเกินไป และกลยุทธ์ในการเทรดคือ จะต้องกระจายการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น”

ความอลหม่านเกิดขึ้นหลังจากการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานหลายเดือนในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ใหญ่และบริษัทที่เติบโตสูงจำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้ผลิตชิปอย่าง เอนวิเดีย (Nvidia), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และแอมะซอน (Amazon) ที่ผลักดันให้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในปีนี้

หุ้น Mega cap หรือหุ้นยักษ์ใหญ่เหล่านี้ซึ่งรวมเอาหุ้นของเมตา แพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms) และแอปเปิล (Apple) เข้ามาด้วย มีการเรียกขานกันในชื่อ the Magnificent Seven หรือ 7 หุ้นนางฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวหนึ่งในสามหรือ 33% ของการปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% ของดัชนี S&P 500 ในปี 2567 นี้ ทำให้วิถีการเคลื่อนไหวของ 7 หุ้นดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นในวงกว้าง

ขณะที่ ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความกังวลก็เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าของบริษัทเหล่านี้ที่ได้ยืดขยายออกไป และมีการเปรียบเทียบกับฟองสบู่ดอทคอมที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้วซึ่งพบได้บ่อยมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี S&P 500 มีการซื้อขายเกือบ 22 เท่าของอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นที่คาดหวัง (P/E ratio) ซึ่งสูงที่สุดในรอบสองปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ 18 เท่า จากข้อมูลของ LSEG

สัญญาณหลายอย่างของความกังวลใจเกี่ยวกับหุ้นเทคโนโลยีเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสัญญาณหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีวัดความกลัวของนักลงทุนและความผันผวนของตลาด หรือ Cboe Volatility Index (VIX Index) ซึ่งเป็นการวัดความต้องการการปกป้องพอร์ตการลงทุน โดยดัชนีดังกล่าวพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบสามเดือนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

กองทุนป้องกันความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ ได้ปรับลดการลงทุนในหลายๆ ตลาดในช่วงสองสัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมา ด้านโบรกเกอร์ชั้นนำของสหรัฐฯ ทั้ง Goldman Sachs และ Morgan มีความกังวลว่า กำไรที่ได้รับจากเมื่อต้นปีนี้อาจจะหายไปหากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายได้เปลี่ยนแปลงไป

แม้ว่าดัชนี S&P 500 ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดเพียง 4% ที่ทำได้เมื่อต้นเดือนนี้ แต่นักลงทุนบางส่วนกังวลว่า วอลล์สตรีทอาจมีทัศนคติในเชิงบวกมากเกินไปเกี่ยวกับการเติบโตของกำไร ส่งผลให้หุ้นมีความเสี่ยงหากว่าบริษัทไม่สามารถบรรลุความคาดหวังของนักลงทุนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ที่มา: รอยเตอร์