กลุ่มผู้ถือหุ้นของคราวด์สไตรค์ (CrowdStrike) รวมตัวกันฟ้องร้องบริษัท โดยกล่าวหาว่า บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์รายนี้หลอกลวงพวกเขาด้วยการปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า การทดสอบซอฟต์แวร์ที่ไม่รัดกุมของบริษัทอาจนำไปสู่การล่มของระบบทั่วโลกเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งส่งผลให้คอมพิวเตอร์กว่า 8 ล้านเครื่องหยุดทำงาน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ในการยื่นฟ้องแบบกลุ่มต่อศาลรัฐบาลกลางในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เมื่อคืนวันอังคาร (30 ก.ค.) ผู้ถือหุ้นระบุว่า พวกเขาได้พบว่า คำรับรองของคราวด์สไตรค์เกี่ยวกับเทคโนโลยีของบริษัทนั้นเป็นเท็จและทำให้เข้าใจผิดอย่างร้ายแรง โดยซอฟต์แวร์ที่อัปเดตไปนั้นกลับเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง จนทำให้ระบบของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกล่ม กระทบไปถึงสายการบิน ธนาคาร โรงพยาบาล และหน่วยงานฉุกเฉิน
กลุ่มผู้ถือหุ้นกล่าวว่า เมื่อผลกระทบจากการที่ระบบล่มเริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ราคาหุ้นของคราวด์สไตรค์ก็ร่วงลง 32% ในช่วง 12 วันถัดมา ส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทหายไป 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ด้านนายจอร์จ เคิร์ตซ์ ซีอีโอของคราวด์สไตรค์ถูกสภาคองเกรสเรียกตัวมาให้ข้อมูลชี้แจง ส่วนสายการบินเดลตาแอร์ไลน์ (Delta Air Lines) ก็มีรายงานว่า ได้ว่าจ้างทนายความชื่อดังอย่างนายเดวิด บอยส์ เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
คำฟ้องดังกล่าวยังระบุถึงคำพูดของนายเคิร์ตซ์ในการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่เขาได้บรรยายลักษณะซอฟต์แวร์ของคราวด์สไตรค์ว่า “ผ่านการตรวจสอบ ผ่านการทดสอบ และผ่านการรับรองแล้ว”
ล่าสุด คราวด์สไตรค์ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (31 ก.ค.) ว่า “เราเชื่อว่าคดีนี้ไม่มีมูลความจริง และเราจะปกป้องบริษัทอย่างเต็มที่” โดยนายเคิร์ตซ์และนายเบิร์ต พอดเบียร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบริษัทฯ เป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย
ผู้นำในการฟ้องร้องครั้งนี้คือสมาคมบำนาญเคาน์ตีพลีมัธ (Plymouth County Retirement Association) จากรัฐแมสซาชูเซตส์ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ได้ระบุจำนวนแน่นอนให้กับผู้ถือหุ้นคราวด์สไตรค์แบบ Class A ซึ่งถือหุ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย. 2566 ถึงวันที่ 29 ก.ค. 2567
อนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ผู้ถือหุ้นมักจะฟ้องร้องบริษัทเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในทางลบ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นตกลง และในกรณีของคราวด์สไตรค์นี้ อาจมีคดีฟ้องร้องตามมาอีกในอนาคต
ด้านนายเอ็ด บาสเตียน ซีอีโอของบริษัทเดลตาให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี เมื่อวานนี้ว่า เหตุการณ์ระบบล่มครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับสายการบินเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ ทั้งจากรายได้ที่สูญเสียไป ค่าชดเชยต่างๆ รวมไปถึงค่าที่พักโรงแรมให้กับผู้โดยสารที่ตกค้าง
ทั้งนี้ หุ้นคราวด์สไตรค์ปิดตลาดเมื่อวานนี้ที่ระดับ 231.96 ดอลลาร์ ลดลงอย่างมากจากราคาปิดที่ 343.05 ดอลลาร์ในวันก่อนเกิดเหตุระบบล่มทั่วโลก
ที่มา: รอยเตอร์