ดัชนีตลาดหุ้นเกือบทุกตลาดทั่วโลกร่วงลง ขณะที่ราคาพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง
วันที่ 5 สิงหาคม 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงาน ณ เวลา 12.55 น. (เวลาไทย) ว่า ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงและราคาพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนรีบโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่มีการเดิมพันว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะถูกปรับลดลงอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจ
นักลงทุนเริ่มโยกเงินจากหุ้นหลังปิดตลาดวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม ทำให้ดัชนีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแนสแดค (Nasdaq Futures) ร่วงลง 4.7% ในขณะที่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเอสแอนด์พี 500 (S&P 500 Futures) ลดลง 1.41% สัญญาซื้อขายล่วงหน้ายูโรสต็อกซ์ 50 (EUROSTOXX 50 Futures) ลดลง 2.1% และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเอฟทีเอสอี 100 (FTSE 100 Futures) ลดลง 1.2%
ส่วนในตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย ดัชนีนิกเคอิ 225 (Nikkei 225) ของญี่ปุ่นร่วงลง 13% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับเป็นการขาดทุนในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2011 (วิกฤตหนี้ยุโรป)
ดัชนีเอ็มเอสซีไอเอเชีย-แปซิฟิกไม่รวมญี่ปุ่น (MSCI Asia Pacific ex Japan) ร่วงลง 4.2% ขณะที่ ซีเอสไอ300 (CSI300) ดัชนีหุ้นบลูชิพของจีนปรับเพิ่มขึ้น 0.5% อย่างสวนทางตลาดโลก โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ซึ่งจัดทำโดยไฉซิน (Caixin) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 52.1 จุด
อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ลดลงอย่างรวดเร็ว 17 จุด สู่อัตรา 0.785% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดได้พิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งถึงแนวโน้มของการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลงแตะ 3.723% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2023 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีลดลงไปแล้ว 50 จุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือ 3.818% และอาจจะลดลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเปลี่ยน Yield Curve จากบวกเป็นลบ ในลักษณะที่เคยบ่งชี้การเกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ในอดีตที่ผ่านมา
รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกรกฎาคมที่อ่อนแออย่างน่ากังวล ทำให้ตลาดให้น้ำหนักถึง 70% ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่เพียงแต่จะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้เท่านั้น แต่ยังจะปรับลดลงเร็วกว่าที่คาดก่อนหน้านี้โดยปรับลดครั้งแรกถึง 50 เบซิสพอยต์ หรือ 0.50%
นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซกส์ (Goldman Sachs) ได้ปรับเพิ่มโอกาสที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จาก 15% เป็น 25% แม้จะคิดว่าอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนั้นจะมีจำกัด เนื่องจากเฟดกำลังต้องการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ณ ตอนนี้ โกลด์แมน แซกส์ คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ในเดือนกันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม
“การคาดการณ์ของเราคือ การเติบโตของการจ้างงานจะฟื้นตัวในเดือนสิงหาคม และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) จะตัดสินว่า การหั่นดอกเบี้ย 25 เบซิสพอยต์นั้นเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความเสี่ยงขาลง แต่หากเราคาดการณ์ผิดและรายงานการจ้างงานเดือนสิงหาคมออกมาอ่อนแอพอๆ กับรายงานเดือนกรกฎาคม ก็มีแนวโน้มว่าจะปรับลด 50 เบซิสพอยต์ในเดือนกันยายน”
ด้านนักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน (JPMorgan) คาดว่ามีภาวะถดถอยมากขึ้น โดยสมัครรับความน่าจะเป็น 50% ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ
“ตอนนี้เฟดดูเหมือนจะ Behind the Curve อยู่มาก เราคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 50 เบซิสพอยต์ในการประชุมเดือนกันยายน ตามด้วยการปรับลดอีก 50 เบซิสพอยต์ในเดือนพฤศจิกายน” ไมเคิล เฟโรลี (Michael Feroli) นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมน แซกส์ กล่าว และเขากล่าวอีกว่า อันที่จริงแล้วอาจมีการเสนอให้ผ่อนคลายนโยบายในระหว่างการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลอ่อนแอลงอีก แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของเฟดอาจกังวลว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เกิดการตีความผิดได้
ที่มา: รอยเตอร์