หลังศาลตัดสินให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกฯ บรรดานักวิเคราะห์และนักวิชาการมองว่า “ประชาธิปไตยไม่อาจหยั่งรากลึกได้ในไทย” และ “ระบอบเผด็จการยังคงแฝงตัวอยู่”
การโค่นล้มผู้นำประเทศที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ถึง 12 เดือนของไทย ทำให้เห็นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่สร้างกฎเกณฑ์การปกครอง โดยได้รับการสนับสนุนจากทหารในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น ยังคงกุมอำนาจทั้งหมดไว้
บลูมเบิร์ก รายงานว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ที่ถูกขับโดยศาลรัฐธรรมนูญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และกลุ่มคนที่ถูกขับนั้น ส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกโค่นอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549
แต่การปลดนายกฯ ครั้งนี้ แตกต่างตรงที่ ทักษิณเป็นพันธมิตรกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นอดีตศัตรู คำถามคือ พรรคร่วมรัฐบาลจะยังคงเหนียวแน่นต่อไปหรือไม่ คงต้องรอดูต่อไปในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) จะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และแคนดิเดตที่หลายคนคาดว่าอาจได้ขึ้นเป็นนายกฯ อันดับต้นๆ ก็คือ “แพรทองธาร ชินวัตร” และ “ชัยเกษม นิติสิริ” จากพรรคเพื่อไทย
– ประชาธิปไตยไม่อาจหยั่งรากลึกในไทย
ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิชาการแลกเปลี่ยน จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “คำตัดสินในวันพุธ และเมื่อวันที่ 7 ส.ค. เตือนใจพวกเราว่า ยังมีสถาบันที่คอยตรวจสอบอำนาจพรรคที่มาจากการเลือกตั้งในไทยอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่หยั่งรากลึกได้ จนกว่าจะมีคนเห็นพ้องกันมากกว่านี้เกี่ยวกับการมีอำนาจเกินขอบเขต”
บลูมเบิร์กเผย คำตัดสินปลดนายกฯ เศรษฐาพ้นตำแหน่ง ถือเป็นข่าวร้ายต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าแทรกแซงของทหาร
ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ที่เป็นหนึ่งในตลาดให้ผลประกอบแย่ที่สุดในโลกนั้น ร่วงสูงสุด 1.3% เมื่อวานนี้ และปิดลบ 0.4% ส่วนเงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังมีคำตัดสินปลดนายกฯ โดยแข็งค่าขึ้น 0.6% ต่อดอลลาร์
ด้านกาเร็ท ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากแคปิตอลอีโคโนมิกส์ บอกว่า “ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ ขณะที่นโยบายประชานิยมมีแนวโน้มย่ำแย่ลง และส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และแนวโน้มระยะยาวของประเทศ”
– กลืนกินเพื่อไทย?
นอกจากแพรทองธาร และชัยเกษมแล้ว แคนดิเดตอีกคนที่เป็นที่พูดถึง คือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทยที่ปัจจุบันเป็นพรรคใหญ่อันดับสองในฝ่ายพันธมิตรรัฐบาล และถูกมองว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างเหนียวแน่น
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า “เกมในตอนนี้คือ ทำให้เพื่อไทยรู้สึกว่าต้องถอนตัว ไม่รับตำแหน่งนายกฯ และนำพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ปล่อยให้กลืนกินเพื่อไทย ภูมิใจไทยจะกลายเป็นพรรคอนุรักษนิยมอันดับต้น ๆ”
บลูมเบิร์กตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มอนุรักษนิยมสามารถจัดการกับพรรคของทักษิณ และรวมกลุ่มกันกับพรรคภูมิใจไทย พวกเขาจะสามารถชนะเลือกตั้งได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา พวกเขาประสบล้มเหลวในการเลือกตั้ง หลังจากพรรคประชาชน หรืออดีตพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุด และมีที่นั่งสส.ในสภามากกว่าพรรคของทักษิณเป็นครั้งแรก
– เผด็จการแฝงตัวอยู่
บลูมเบิร์ก ระบุเหตุการณ์เมื่อวันพุธแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า การชนะเลือกตั้งในไทยไม่ได้ส่งผลอะไรมากมายนัก บรรดาผู้พิพากษาและนายพลฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงมีอำนาจยิ่งใหญ่ในการโค่มล้มนักการเมือง และความจริงนี้ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะมีการแก้ไขระบบการเมืองเบื้องต้น
พอล แชมเบอร์ส อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนหนังสือกองทัพไทย กล่าวว่า “รัฐประหารรูปแบบใหม่คือการใช้ศาล ประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง นี่เป็นเพียงระบอบเผด็จการที่แฝงตัวอยู่”
ที่มา: บลูมเบิร์ก