นักวิเคราะห์ต่างชาติ ชี้ตลาดบอนด์ไทยอาจไม่ได้ไปต่อ หลังเพิ่งฟื้นตัวติดกลุ่มท็อปภูมิภาค เหตุแบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ยสูง บวกความเสี่ยงการเมืองรอบล่าสุด ฉุดไทยน่าสนใจน้อยกว่าเพื่อนบ้าน กดดันบอนด์ไทย ‘ต่างชาติ’ ขายสุทธิ 8 พันล้าน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติ อาจเริ่มพิจารณาหนีออกจากตลาดตราสารหนี้ของไทย เนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงสวนทางแนวโน้มภูมิภาค บวกกับปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองล่าสุด อาจทำให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยน่าดึงดูดน้อยลง
เรื่องนี้อาจเป็นจุดพลิกผันต่อความรู้สึกของนักลงทุน หลังจากที่ตลาดตราสารหนี้ไทย เพิ่งจะฟื้นตัวได้โดยมีทุนไหลเข้าถึงราว 1,700 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ หรือสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา และทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีผลงานดีที่สุดในภูมิภาค
บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเกาหลีใต้ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้ตลาดตราสารหนี้ของประเทศเหล่านี้ น่าดึงดูดกว่าประเทศไทย ที่คาดว่าอาจจะเริ่มลดดอกเบี้ยในปีหน้า
ตลาดบอนด์ไทยเข้าสู่วิกฤติ
“ในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้ ตลาดตราสารหนี้ ไทยอาจไม่สามารถทำผลงานได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชีย เนื่องจากเป็นที่คาดว่าไทยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่อื่น และคาดว่าจะลดเพียงแค่ 0.5% เท่านั้นในปี 2568” เจนนิเฟอร์ กุสุมา นักกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยเอเชียจากธนาคาร ANZ กล่าว
“ความเชื่อมั่นของต่างชาติน่าจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเมื่อภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ลาวยาวขึ้นจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและทิศทางของนโยบาย”
ขณะเดียวกัน นักลงทุนบางส่วนยังมองเป็นโอกาสในการขายทำกำไร หลังจากที่ดัชนีตลาดตราสารหนี้ไทยโดยบลูมเบิร์กระบุอัตราผลตอบแทนสูงถึง 6.8% ในไตรมาสนี้ หรือสูงที่สุดในภูมิภาคเป็นรองเพียงแค่มาเลเซียเท่านั้น
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลของธนาคาร กรุงไทย (KTB) และ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2567 ถึงปัจจุบัน (QTD) มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ไทยแล้ว 1,926.50 ล้านดอลลาร์ (YTD +656.4 ล้านดอลลาร์) หรือสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาครองจากจีน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
บลูมเบิร์ก ระบุว่า กองทุนทั่วโลกแห่เข้าซื้อตราสารหนี้ไทยในไตรมาสนี้ หลังจากที่มีเงินไหลออกไปถึง 4 ไตรมาสจากทั้งหมด 5 ไตรมาสที่ผ่านมา
ขณะที่ แนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือน ก.ย.นี้ ยังกระตุ้นให้กองทุนทั่วโลกแห่ซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรในสกุลเงินท้องถิ่น ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้วถึงราว 5% ในไตรมาสนี้ โดยประมาณ 55% ของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดในไตรมาสนี้ เป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าพันธบัตรไทยเป็นเพียงการเข้ามาชั่วคราว และคาดว่าการประชุมประจำปีของเฟดที่แจ๊คสันโฮลในช่วงปลายเดือนนี้ น่าจะมีสัญญาณที่ทำให้ตลาดลดความคาดหวังต่อการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ลง
บอนด์ไทย ‘ต่างชาติ’ ขายสุทธิ 8 พันล้าน
ขณะที่ ตลาดตราสารหนี้ต่างชาติ ขายสุทธิ 8,832 ล้านบาท เป็นการขายตราสารหนี้ระยะสั้น 12,407 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้ ระยะยาว 3,575 ล้านบาท
เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ อาจเริ่มพิจารณาหนีออกจากตลาดตราสารหนี้ของเมืองไทย ด้วยจากปัจจัยกดดันทั้งการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง สวนทางแนวโน้มตลาดภูมิภาค บวกกับปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองไทยล่าสุด ดังนั้น อาจทำให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยน่าดึงดูดน้อยลง
นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นบอนด์ระยะสั้น ขณะที่ ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่า จึงน่าจะเป็น การขายทำกำไรจากค่าเงินบาท จากช่วงก่อนหน้าที่เข้ามามากจนทำบาทแข็งค่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า วานนี้ (15 ส.ค.) เงินบาทกลับมายืนในฝั่งที่อ่อนค่ากว่าแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง หลังข้อมูล CPI เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาตามที่ตลาดคาด ทำให้โอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 25 basis points น้อยลง
นอกจากนี้ ราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลงเมื่อคืนที่ผ่านมา (สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น) รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีประเด็นติดตามต่อเนื่อง เพิ่มแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่ากลับมาด้วยเช่นกัน
ด้านสกุลเงินเอเชียอื่นๆ เงินเยนยังเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของญี่ปุ่นจะออกมาดีกว่าตัวเลข ฃคาดการณ์ของตลาด ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเช่นกัน เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีนที่ออกมาแม้ยอดค้าปลีกจะขยายตัว ดีกว่าคาด แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตต่ำกว่าที่คาดและต่ำสุดในรอบ 4 เดือน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของ เงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 35.00-35.25 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2567 ของอังกฤษ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย จำนวน ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. และผลสำรวจภาคการผลิตเดือนส.ค. ของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย
ที่มา: บลูมเบิร์ก