สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยรายงานฉบับใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บ่งชี้ว่า หนี้สาธารณะทั่วโลก มีแนวโน้มพุ่งแตะระดับ 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลก ภายในสิ้นปีนี้ โดยสหรัฐฯ และจีนเป็นชาติที่มีหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด
ในรายงาน Fiscal Monitor ฉบับล่าสุด ซึ่งติดตามสถานการณ์ทางการคลังของโลก IMF คาดว่า หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ภายในปี 2030 และกล่าวเตือนว่า รัฐบาลชาติต่างๆ จะต้องเผชิญกับการตัดสินใจอย่างยากลำบากเพื่อรักษาเสถียรภาพของการกู้ยืม
รายงานของ IMF ยังคาดว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากชาติต่างๆ เช่น สหรัฐฯ บราซิล ฝรั่งเศส อิตาลี แอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักร อีกทั้ง IMF ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่าง
ๆ เร่งควบคุมหนี้เป็นการด่วน โดยระบุว่า “การรอคอยถือเป็นความเสี่ยง ซึ่งประสบการณ์ของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่า หนี้ในระดับสูงอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบแก่ตลาดได้ และจำกัดพื้นที่ในการบริหารจัดการงบประมาณเมื่อเผชิญกับผลกระทบเชิงลบ”
นอกจากนี้ ยังระบุว่า การที่ภาคการเมืองไม่ได้สนใจมากนักที่จะปรับลดรายจ่ายลง ท่ามกลางแรงกดดันในการสนับสนุนพลังงานสะอาด การดูแลและรองรับจำนวนประชากรผู้สูงอายุ และการเสริมสร้างความมั่นคง ทำให้ “ความเสี่ยงต่อหนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก”
ขณะที่ จำนวนประเทศที่คาดว่าจะไม่สามารถฟื้นตัวจากกับดักหนี้ได้ มีสัดส่วนหนี้คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของ GDP ทั่วโลก โดย IMF ระบุว่า หากมองในกรอบหนี้ที่เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระ ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด อาจพุ่งสูงถึง 115% ของ GDP ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานเกือบ 20% จากระดับหนี้ที่สูงในปัจจุบันยิ่งทำให้ผลกระทบจากการเติบโตที่อ่อนแอลง หรือภาวะทางการเงินที่ตึงตัวอยู่แล้วนั้น ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดการผิดนัดชำระหนี้ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วนั้น ได้ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ และปัจจุบันคาดว่าจะอยู่ที่ 134% ของ GDP แต่สำหรับชาติตลาดเกิดใหม่และชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ตัวเลขดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็น 88%
ทั้งนี้ IMF กล่าวว่า ในขณะที่เงินเฟ้อทยอยชะลอตัวลงและอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงกำลังเปิดโอกาสให้รัฐบาลของชาติต่างๆ ได้จัดระเบียบทางการคลังของตน แต่แทบไม่มีสัญญาณของความเร่งด่วนที่จะกระทำเช่นนั้นแต่อย่างใด
ที่มา: บลูมเบิร์ก