องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเผยรายงานประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 73 นับตั้งแต่ปี 1970 – 2020 ย้ำมนุษย์ต้องร่วมมือแก้ปัญหาครั้งใหญ่ อีก 5 ปีข้างหน้าเป็นช่วงเวลากำหนดทิศทางอนาคตโลก
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) เผยแพร่รายงาน ลิฟวิ่ง พลาเน็ต รีพอร์ต (Living Planet Reports) ซึ่งเป็นรายงานภาพรวมเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก เผยว่า ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 73 นับตั้งแต่ปี 1970 – 2020
ข้อมูลนี้รวบรวมโดยนักวิจัยจากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) โดยประชากรสัตว์ป่าลดลงมากที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ลดลงร้อยละ 95 ทวีปแอฟริกาลดลงร้อยละ 76 และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงร้อยละ 60
ดร. โรบิน ฟรีแมน (Robin Freeman) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเกี่ยวกับการลดลงของประชากรโลก จากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า “รายงาน Living Planet ประจำปีนี้เป็นชุดข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดที่เราได้รวบรวมมาจนถึงปัจจุบัน เรามีประชากรสัตว์ป่าเกือบ 35,000 กลุ่ม จาก 5,400 สายพันธุ์ และจากการใช้ชุดข้อมูลดังกล่าว เราประเมินว่าประชากรสัตว์ป่าลดลงเฉลี่ยร้อยละ 73 ตั้งแต่ปี 1970”
ซึ่งระบบนิเวศที่ประชากรสัตว์ป่าลดลงมากที่สุด คือ ระบบน้ำจืด โดยลดลงร้อยละ 85 รองลงมา คือ ระบบนิเวศบนบก ลดลงร้อยละ 69 และระบบนิเวศทางทะเล ลดลงร้อยละ 56
แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเกิดการสูญเสียและเสื่อมโทรมลง ส่วนใหญ่เกิดจากระบบผลิตอาหารของมนุษย์จนทำให้กลายเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อประชากรสัตว์ป่าทั่วโลก รองลงมาคือ การใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น คือ ใช้ทรัพยากรอย่างรวดเร็วจนธรรมชาติไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ทัน ตามมาด้วยสาเหตุการมีสัตว์สายพันธุ์รุกราน และโรคภัยต่างๆ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ถือเป็นภัยคุกคามด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเห็นการลดลงของประชากรสัตว์ป่าอย่างมากถึงร้อยละ 95
การลดลงของประชากรสัตว์ป่า สามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนคำเตือนล่วงหน้าของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและการสูญเสียระบบนิเวศที่ดี และเมื่อระบบนิเวศได้รับความเสียหาย ก็จะไม่สามารถให้ประโยชน์แก่มนุษยชาติได้อีกต่อไป ได้แก่ อากาศสะอาด น้ำสะอาด และดินที่ดีสำหรับการผลิตอาหาร ซึ่งอาจกลายเป็นจุดพลิกผัน (Tipping Points) หรือก็คือ การที่ธรรมชาติถูกผลักดันให้เกินขีดจำกัด ซึ่งเมื่อก้าวข้ามจุดนี้ไปแล้วก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และอาจไม่สามารถย้อนกลับได้
ในรายงานยังเตือนว่า ในขณะที่ โลกกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่อันตราย ซึ่งจะก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษยชาติ แต่แม้สถานการณ์จะเลวร้าย แต่ก็ยังไม่นับว่าสายเกินแก้ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องพยายามร่วมมือกันครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งด้านสภาพอากาศและธรรมชาติ ช่วงเวลาสำคัญ คือ อีก 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาแห่งการกำหนดทิศทางของอนาคตของสิ่งมีชีวิตบนโลก
ดร. ฟรีแมน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนี Living Planet ถือเป็นหนึ่งในสถิติความหลากหลายทางชีวภาพ และควรถูกมองว่าเป็นคำเตือน ดังนั้น มนุษย์จึงควรเริ่มดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และการดำเนินการนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่รัฐบาลยังต้องเข้ามาสนับสนุนด้วย
ที่มา: รอยเตอร์