สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเกาหลีใต้ ในเดือนต.ค. ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ก่อให้เกิดแนวโน้มว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกครั้ง
ดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้ในเดือนต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนก.ย. โดยตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 1.4% ตามผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์ และถือเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2021
ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงและราคาอาหารสด เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศ แม้ว่าผลกระทบจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำของปีที่แล้วจะจางหายไป ซึ่งอาจกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวในอนาคตก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) ระบุว่า “สำหรับแนวโน้มราคาในอนาคต คาดว่า ราคาเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงมีแนวโน้มคงที่ ที่ประมาณ 2% และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะเข้าใกล้ระดับ 2% ในช่วงปลายปีนี้”
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการธนาคารกลางเกาหลีใต้ ลงมติ 6-1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 3.25% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. ชะลอตัวต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางเกาหลีใต้
ขณะที่ ผลสำรวจความคิดเห็นอีกชุดหนึ่งที่เก็บข้อมูลเมื่อช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่านักวิเคราะห์คาดว่าระดับของอัตราดอกเบี้ย จะยังคงอยู่ที่ระดับ 3.25% ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบเป็นรายเดือน มาตั้งแต่เดือนก.ย. และอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%
ทั้งนี้ ดัชนีราคาพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือว่าอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2021 ขณะที่ราคาปิโตรเลียม ปรับตัวลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ที่มา: รอยเตอร์