ญี่ปุ่น เผชิญวิกฤตเงินทุนไหลออก เงินเยนอ่อนค่าหนัก ผลจากช่องว่างดอกเบี้ยและเศรษฐกิจโตช้า ชี้นโยบาย ทรัมป์ อาจยิ่งทำให้ย่ำแย่ลง
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เติบโตช้า กำลังเผชิญกับการไหลออกของเงินทนอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเยนให้ยิ่งอ่อนค่าลง
ผู้สังเกตการณ์ตลาดเงินจำนวนมากเชื่อว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคาดการณ์ว่า นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แล้ว กระแสการค้าและการลงทุนที่ไหลเข้าและไหลออกจากญี่ปุ่นก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน
ญี่ปุ่นรายงานยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 8.97 ล้านล้านเยน (5.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสที่ 3 แต่ตัวเลขดังกล่าวถูกบดบังด้วยเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลออก แม้ว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในเดือนก.ย. เนื่องจากนักลงทุนยกเลิกการถือครองเงินเยนผ่านระบบ Carry Trade ซึ่งตั้งแต่นั้นมา เงินเยนก็อ่อนค่าไปประมาณ 10% และแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนก.ค. ในวันนี้
นายชูสึเกะ ยามาดะ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สกุลเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ออฟอเมริกา (Bank of America) หรือ BofA ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงและการลงทุนผ่านพอร์ตการลงทุน กำลังชดเชยส่วนเกินให้กับดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจำกัดกำไรจากเงินเยนที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากรายได้ขั้นต้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศที่มักจะนำไปลงทุนซ้ำในต่างประเทศ
บัญชีเดินสะพัดสะท้อนถึงการส่งออกและนำเข้า และกระแสเงินข้ามพรมแดนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการค้า เงินเดือน และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยญี่ปุ่นรายงานรายได้หลักเกินดุลมากเป็นประวัติการณ์ที่ 12.2 ล้านล้านเยน ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งชดเชยการขาดดุลการค้าและบริการ และทำให้กำไรเกินดุลโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น
ด้าน นายฮิเดกิ ชิบาตะ นักกลยุทธ์อาวุโสจาก Tokai Tokyo Intelligence Laboratory กล่าวว่า การขาดดุลการค้าส่งผลให้เทขายเงินเยน เพื่อตอบสนองอุปสงค์สกุลเงินต่างประเทศ และคาดว่าแนวโน้มนี้น่าจะยังคงดำเนินต่อไป
ขณะที่ นายสึโยชิ อุเอโนะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัย NLI ในโตเกียว กล่าวว่า อุปสรรคของบริษัทต่างชาติในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับสูง โดยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความซับซ้อนสำหรับสตาร์ตอัปต่างชาติ และด้วยการเติบโตที่ช้าของญี่ปุ่น ตลาดจึงไม่น่าจะขยายตัวมากนัก
นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา กระแสเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นไหลออก มากกว่ากระแสเงินเข้าอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกไตรมาส โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้วิเคราะห์ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า ณ เดือนมิ.ย. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 8.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลก
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของ สหราชอาณาจักร อยู่ที่ 99.0% ของ GDP แคนาดา 87.7% สหรัฐ 57.4% ออสเตรเลีย 48.8% และจีน 19.6%
รายงานระบุว่า ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงทรงตัวมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประเมินเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การเติบโตอยู่ที่เพียง 0.6% ซึ่งยิ่งผลักดันให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นดึงดูดการลงทุนในพอร์ตการลงทุนได้สูงกว่ามาก โดยคิดเป็น 90% ของ GDP แต่กระแสเงินไหลเข้าส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
นายฮิโรฟูมิ ซูซูกิ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก Sumitomo Mitsui ในโตเกียว กล่าวว่า กระแสเงินไหลเข้าส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไร และอุปสงค์การลงทุนระยะยาวไม่ได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยความที่อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก การป้องกันความเสี่ยงจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง จึงมอบผลตอบแทนเชิงบวกให้กับนักลงทุนต่างชาติมากกว่า ตราบใดที่เงินเยนไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้มากอย่างมีนัยสำคัญจนเพียงพอที่จะหักล้างข้อได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้
ที่มา: บลูมเบิร์ก