การใช้จ่ายผ่านแอปฯ และเกมจากผู้คนทั่วโลกเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ทะลุกว่า 4 ล้านล้านบาท TikTok ครองความเป็นแอปยอดนิยมในด้านการใช้จ่ายจากทั่วโลก
รายงานเศรษฐกิจแอปพลิเคชันปี 2567 ล่าสุด จาก Appfigures ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลแอปพลิเคชัน พบว่า มีการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นการฟื้นตัวด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านแอปและเกมบนมือถือทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 127,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 4.3 ล้านล้านบาท
โดยเป็นยอดใช้จ่ายรวมทั้งของ App Store และ Google Play ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (2566) คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 15.7 จากมูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่า 3.7 ล้านล้านบาทำไ
การเติบโตดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มาจาก App Store ของ แอปเปิล เป็นหลัก ส่วน การใช้จ่ายผ่าน Google Play สวนทางลดลง
โดยยอดใช้จ่ายที่มาจาก App Store รวมเป็นมูลค่า 91,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3 ล้าน 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ จาก Google Play ลดลงร้อยละ 1.5 แตะที่ระดับ 35,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1 ล้าน 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่า สหรัฐอเมริกา กินส่วนแบ่งในด้านการใช้จ่ายมากที่สุด ด้วยมูลค่า 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1 ล้าน 6 แสน ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และส่วนใหญ่การเป็นการใช้จ่ายใน App Store ของแอปเปิล ซึ่งเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 18.4 แต่ใน Google Play ลดลงร้อยละ 4.7
และเมื่อพิจารณาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่า แอปยอดนิยมจากทั่วโลก คือ TikTok โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านแอปดังกล่าว อยู่ที่ราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 85,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่นับรวมร้านค้าแอปในจีน
นอกจากนี้ TikTok ยังเป็นแอปอันดับต้น ๆ ในสหรัฐฯ โดยมียอดใช้จ่ายอยู่ที่ราว 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 44,000 ล้านบาท
สื่อเว็บไซต์ techcrunch ตั้งข้อสังเกตว่า จากข้อมูลของ แอปฟิเกอร์ส พบสัญญาณที่น่ากังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพโดยรวมของระบบนิเวศของแอป ที่ในปีนี้ ยอดดาวน์โหลดแอปจากทั่วโลกมีจำนวนลดลง แตะอยู่ที่ 110,000 ล้านครั้ง ลดลงไปร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มียอดดาวน์โหลด 112,000 ล้านครั้ง
บ่งชี้ว่า ระบบนิเวศของแอปพลิเคชันที่เคยเติบโตอย่างมาก มาก่อนหน้า แต่เวลานี้กำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่ช้าลง (ภาวะอิ่มตัว) และหันมาเน้นสร้างรายได้จากแอปที่ผู้บริโภคใช้งานกันอยู่แล้ว เช่น การเปิดระบบการสมัครสมาชิก เปลี่ยนไปจากก่อนหน้านี้ ที่เน้นกระตุ้นยอดดาวน์โหลดแอปใหม่รวมถึงแอปที่ต้องชำระเงิน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว แอปทั่วโลกที่ให้บริการสมัครสมาชิก มีเพียงร้อยละ 5 แต่เมื่อดูในแง่ของรายได้ แอปเหล่านี้ มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 48 ของรายได้จากร้านค้าแอปทั้ง 2 ราย และแอปที่สร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกจากทั่วโลก ก็มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 13.7 ของการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งหมด เติบโตขึ้นจากปี 2566 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 12.5
การดาวน์โหลดที่ลดลง จากทั้ง App Store และ Google Play โดยการดาวน์โหลดแอป ในระบบปฏิบัติการ iOS มีจำนวน 28,300 ล้านครั้ง ลดลงร้อยละ 1.1 จากปีก่อน ส่วนการดาวน์โหลดแอป Android บน Google Play จำนวนลดลงไปร้อยละ 2.6 เหลือ 81,400 ล้านครั้ง
แต่สาเหตุอีกส่วนหนึ่งยังมาจากการจัดการร้านค้าแอปที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ กูเกิล ปราบปราม สแปม และแอปคุณภาพต่ำ ส่งผลให้การเปิดตัวแอปใหม่บน Google Play ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 60 เนื่องจากข้อกำหนดที่เข้มงวด สำหรับนักพัฒนาแอปที่ต้องผ่านการทดสอบและการตรวจสอบแอปมากขึ้น
ส่วนประเทศที่มีจำนวนดาวน์โหลดลดลงมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา โดยลดลงไปร้อยละ 3.4 แตะที่ระดับ 10,600 ล้านครั้ง แบ่งเป็นยอดดาวน์โหลดแอป iOS ที่ลดลงไปร้อยละ 5.3 สู่จำนวน 6,100 ล้านครั้ง ส่วนยอดดาวน์โหลด แอป Google Play ลดลงร้อยละ 0.7 สู่ 4,400 ล้านครั้ง
สวนทางกับ เม็กซิโก เป็นประเทศมียอดดาวน์โหลดแอปเติบโตสูงที่สุดสำหรับปี 2567 โดยมีการติดตั้งมากกว่า 225 ล้านครั้ง
ส่วนแอปพลิเคชันที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด ในปี 2567 จากข้อมูลของ Appfigures ไม่ใช่ TikTok ที่เคยครองตำแหน่งมาหลายปี แต่สำหรับปีนี้ คือ Instagram ด้วยยอดการติดตั้งเกือบ 640 ล้านครั้ง และยังเป็นแอปที่มีการค้นหามากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และนอกจาก อินสตาแกรมแล้ว แอปโซเชียลยอดนิยมอื่น ๆ ที่ถูกค้นหาจำนวนมาก เช่น Snapchat, Facebook และ TikTok ซึ่งมากกว่า X ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา
เจาะดูเฉพาะในสหรัฐอเมริกา พบด้วยว่า Temu เป็นแอปที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด ด้วยการติดตั้งจำนวน 48 ล้านครั้ง รวมถึง แอปเปิล เอง ก็ยืนยันในข้อมูลดังกล่าว ที่ว่า Temu เป็นแอปที่มีการดาวน์โหลดใน App Store มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
เมื่อพูดถึง TikTok แม้กำลังเผชิญกับกรณีการถูกแบบในสหรัฐฯ แต่ก็พบว่า ผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐฯ ยังคงใช้จ่ายอย่างหนักเพื่อซื้อสินค้าจากผู้ค้าหลายรายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TikTok Shop
โดย รอยเตอร์ส รายงานว่า TikTok Shop ที่เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายน 2566 ยังคงมีแนวโน้มที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ในช่วงเทศกาลการชอปปิงที่สำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซที่สำคัญสำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ เช่น e.l.f. Cosmetics, Ninja Kitchen และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
เห็นได้จาก Black Friday คือหนึ่งวันหลังจากวันขอบคุณพระเจ้า ที่ชาวอเมริกันจะใช้จ่ายกันมากผ่านทางออนไลน์ โดย TikTok Shop รายงานว่า มียอดขายในสหรัฐฯ แตะที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันดังกล่าว และก่อนหน้านี้เคยรายงานว่า ผู้คนที่ซื้อสินค้าผ่านในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า
รอยเตอร์ส รายงานอีกว่า ข้อมูลจาก Facteus ยังชี้ให้เห็นถึงการใช้จ่ายใน TikTok Shop ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลา 7 วัน ก่อนวัน Cyber Monday ซึ่งเป็นวันที่มีการซื้อขายออนไลน์อย่างมาก ยังสูงกว่าการใช้จ่ายใน Shein และ Temu ของพินตัวตัว อีกด้วย โดย Facteus แจงว่า ข้อมูลดังกล่าว ได้มาจากบัญชีบัตรเดบิทและบัตรเครดิตของผู้บริโภคจำนวน 140 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7-10 ของการใช้จ่ายทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีความหมายและเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในสหรัฐฯ
ด้าน Erik Huberman ซีอีโอ บริษัทเอเจนซีการตลาด Hawke Media กล่าวว่า TikTok Shop ถือเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายรูปแบบใหม่ และแบรนด์ต่าง ๆ กำลังทำผลงานได้ดีกับช่องทางนี้ ส่วนกรณีการถูกแบน ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ เขาบอกว่า คงไม่มีทางเลือกอื่น และหากไม่มีร้านค้า TikTok เป็นช่องทางการขาย ก็อาจทำให้แบรนด์ สูญเสียช่องทางทำรายได้ที่สำคัญไป
ทั้งนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายแบน Tiktok เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากข้อกังวลว่ารัฐบาลจีนจะบังคับให้ ByteDance บริษัทแม่ในจีน ส่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ชาวอเมริกัน โดยจะห้ามการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง TikTok Shop ด้วย ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2568 นี้ เป็นต้นไป และเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 Tiktok แพ้คดีในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งแบนดังกล่าว ทำให้การแบน เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น
ที่มา: รอยเตอร์