โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist และทีม Economic Research, BBLAM
ธปท.จัด Monetary Policy Forum ส่งสัญญาณ Robust Flexible แต่ยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 4/2024 โดยมี นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน นายสักกะภพ พันธ์ยานะกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และ ผู้บริหาร ธปท. เข้าร่วมสื่อสารให้แก่นักวิเคราะห์และสื่อมวลชน (Link)
ภาพเศรษฐกิจไทยและการฟื้นตัว นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/67 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ในระดับปานกลางตามศักยภาพ แต่มีความไม่เท่าเทียมกันในบางภาคส่วน และความไม่แน่นอนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 แม้ว่าภาคบริการยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ภาคการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงและปัญหาเชิงโครงสร้าง
คาดการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยขับเคลื่อน เศรษฐกิจในไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3% เพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในไตรมาสก่อน และคาดว่าไตรมาส 4 จะเติบโตเกิน 3% ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองเดิมของ ธปท. ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยว แม้ว่าการบริโภคจะเริ่มชะลอตัวหลังจากเร่งตัวในช่วงก่อนหน้า
ทิศทางนโยบายการเงิน: ปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ธปท. พิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินโดยยึด 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่:
- การเติบโตเศรษฐกิจ: ยังคงสอดคล้องกับศักยภาพ
- อัตราเงินเฟ้อ: อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% โดยคาดการณ์ปี 2025 อยู่ที่ 1.1%
- เสถียรภาพการเงิน: การลดหนี้ (Debt Deleveraging) ดำเนินต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของสินเชื่อ
นายสักกะภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการเงินต้องยืดหยุ่น พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ การคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงนี้อาจสูญเสียขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงจำกัด เนื่องจากธุรกิจยังลังเลที่จะลงทุน หรือจ้างงาน เพราะต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่สูง และในภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ประสิทธิผลของนโยบายการเงินอาจลดลง
สถานการณ์ปัจจุบัน: เศรษฐกิจ K-Shape และความเสี่ยงจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ K-Shape โดยภาคบริการยังเติบโตได้ดี แต่ภาคการผลิต เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน กลับถดถอย ความเสี่ยงเพิ่มเติมมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยใน 3 ช่องทาง ได้แก่:
- การแข่งขันจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทย หากทรัมป์ใช้มาตรการกีดกันการค้า
- การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและอาเซียน
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
ทิศทางค่าเงินบาทและความผันผวน ค่าเงินบาทในปี 2025 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินในประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป โดยปัจจัยภายนอกยังคงมีอิทธิพลสำคัญ
ความคิดเห็นของนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อปี 2025 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1% และค่าเฉลี่ยระยะกลาง 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 1.7-1.8% ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย หากเงินเฟ้อไม่ผันผวนอย่างรุนแรง ธปท. จะยังไม่กังวล แต่จะติดตาม Dynamic ของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในกรณีที่มี Price Shock และกระจายไปยัง Supply Chain เพิ่มเติมจาก เงินเฟ้อระยะปานกลาง
ภาวะการเงินโดยรวมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางมี 3 เรื่อง
- ความต้องการสินเชื่อลดลง: รายได้ที่ดีขึ้นในบางภาคส่วน เช่น การท่องเที่ยวและขนส่ง
- ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น: จากการฟื้นตัวแบบ K-Shape
- การชำระหนี้: ลูกหนี้ทยอยชำระหนี้ที่ค้างไว้ช่วง Covid-19
ปิติ ดิษยทัต: อุตสาหกรรมยานยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อ นายปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกเผชิญปัญหา เช่น การปิดโรงงานในยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานในไทยกว่า 1 ล้านคน แม้ว่ายอดขายรถมือสองและราคารถเริ่มทรงตัว แต่การฟื้นตัวยังต้องใช้เวลา ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อปี 2024 หดตัว -7.7% แต่ในปี 2025 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหากอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว
Data Dependent และการปรับนโยบาย นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. จะพิจารณาการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินโดยใช้ Data Dependent และ Outlook Dependent เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบสนองที่เกิดจาก Noise ของข้อมูลระยะสั้น โดยจะประเมินแนวโน้มในระยะข้างหน้าอย่างรอบคอบ
ปราณี สุทธศรี: ความเสี่ยงและโอกาสเศรษฐกิจไทย นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 คาดว่าจะเติบโต 2.9% โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เงินโอน 10,000 บาท และ “Easy E-Receipt” รวมถึงการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 39.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะสินเชื่อตึงตัวที่อาจกระทบการเติบโตในภาพรวม
ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจส่งผลกระทบต่อไทยในหลายด้าน เช่น การแข่งขันสินค้าไทยที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา หากทรัมป์ดำเนินมาตรการกีดกันการค้าที่เข้มงวดขึ้น ไทยซึ่งนำเข้าสินค้าจีนในปริมาณสูงกว่าประเทศอื่น อาจได้รับผลกระทบโดยตรง แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะยังขยายตัวได้ แต่หลายภาคส่วนกลับชะลอตัวหรือประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากสินค้านำเข้าจากจีนอาจกดดันการบริโภคในประเทศ
หากมาตรการกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น อาจกระทบทั้งการส่งออกและภาคการผลิตในไทย นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทยและจีนยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยง หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ธปท. จะต้องจับตาความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับมาตรการเชิงนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อไทยล่าสุดเดือนธ.ค.อยู่ที่ 1.23% YoY จากเดือนก่อนที่ 0.95% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 1.4% ทั้งปี 2024 อยู่ที่ 0.4% กระทรวงพาณิชย์คาดปี 2025 อยู่ที่ 0.8% หากพิจารณาเป็นรายเดือนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับตัวลดลง -0.18% MoM (vs. prev. -0.13%)
ประมาณการเศรษฐกิจ
รายการ (% ยกเว้นระบุเป็นอย่างอื่น) | 2023 | 2024 (as of ธ.ค.) | 2024 (as of ต.ค.) | 2025 (as of ธ.ค.) | 2025 (as of ต.ค.) |
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ | 1.9 | 2.7 | 2.7 | 2.9 | 2.9 |
อุปสงค์ในประเทศ | 3.5 | 2.8 | 2.4 | 2.4 | 2.7 |
การบริโภคภาคเอกชน | 7.1 | 4.5 | 4.2 | 2.4 | 2.5 |
การลงทุนภาคเอกชน | 3.2 | -2.2 | -2.8 | 2.2 | 2.9 |
การอุปโภคภาครัฐ | -4.6 | 2.1 | 2 | 1.5 | 2.6 |
การลงทุนภาครัฐ | -4.6 | 2.9 | 1.1 | 5.1 | 4.5 |
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ | 2.1 | 7.1 | 4.8 | 3.5 | 2.8 |
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ | -2.3 | 6.3 | 4.4 | 1.8 | 1.4 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) | 7.4 | 9 | 10 | 15 | 16 |
มูลค่าการส่งออกสินค้า (%YoY) | -1.5 | 4.9 | 2.8 | 2.7 | 2 |
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (%YoY) | -3.8 | 6.4 | 5.1 | 1.7 | 0.4 |
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (ล้านคน) | 28.2 | 36 | 36 | 39.5 | 39.5 |
ราคาน้ำมันดูไบ (ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล) | 82 | 80 | 80 | 77 | 80 |
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป | 1.2 | 0.4 | 0.5 | 1.1 | 1.2 |
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน | 1.3 | 0.6 | 0.5 | 1 | 0.9 |
ที่มา: ธปท.