สรุปข่าวต่างประเทศ ประจำวันพฤ.ที่ 16 มกราคม 2568

สรุปข่าวต่างประเทศ ประจำวันพฤ.ที่ 16 มกราคม 2568

*** TikTok ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นชื่อดัง เตรียมยุติการให้บริการในสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์นี้ (19 ม.ค.) แม้มีผู้ใช้งานชาวอเมริกันมากถึง 170 ล้านคนก็ตาม เนื่องมาจากคำสั่งห้ามให้บริการของคณะรัฐบาลไบเดน ด้าน The Washington Post รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังคำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 วัน กำลังพิจารณาออกคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อระงับการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวเป็นเวลา 60 – 90 วัน โดย The Washington Post ไม่ได้ระบุว่าทรัมป์ จะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างไรตามกฎหมาย

** รายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สิ้นสุดปี 2024 โดยการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจได้แสดงความกังวลหลายประการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่นโยบายภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อสังเกตุเหล่านี้ ถูกรวบรวมจากข้อสังเกตของภาคธุรกิจและผู้ติดต่อในชุมชนของธนาคารกลางภูมิภาคทั้ง 12 แห่ง

*** เจเน็ต เยลเลน  รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาปกป้องมาตรการตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลไบเดน โดยชี้แจงว่า การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนำไปสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและช่วยป้องกันการสูญเสียงานกว่าหลายล้านตำแหน่ง โดยในการกล่าวสุนทรพจน์สำคัญครั้งสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งในวันจันทร์ นางเยลเลนกล่าวว่า มาตรการแจกเช็คเงินสด เครดิตภาษีบุตรรายเดือน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงานของรัฐบาลไบเดน ช่วยลดความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ และชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก แต่ในสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงเร็วกว่าประเทศร่ำรวยชาติอื่น ๆ

** รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มอีกหลายร้อยรายการ โดยเป็นมาตรการที่มุ่งเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย ในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลไบเดน และเพื่อปกป้องมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนที่ได้กำหนดไว้ ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเป้าหมายมากกว่า 250 แห่ง รวมถึงบางแห่งที่ตั้งอยู่ในจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อโจมตีรัสเซียที่หลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และฐานทัพอุตสาหกรรมการทหารของรัสเซีย

*** รัฐบาลแคนาดา เตรียมใช้มาตรการตอบโต้ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์แคนาดา หากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดขึ้นภาษีสินค้าและบริการของแคนาดา โดยแคนาดาได้จัดทำรายชื่อเป้าหมายเอาไว้แล้ว แต่จะจัดให้มีการปรึกษาหารือกับสาธารณชนก่อนดำเนินการ โดยแหล่งข่าวกล่าวเสริมว่าขอบเขตของมาตรการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทรัมป์เลือกดำเนินการจริง

*** บริษัท แอปเปิล กำลังเจรจากับธนาคารบาร์เคลย์ส เพื่อเข้ามาแทนที่โกลด์แมน แซคส์ ในฐานะพันธมิตรบัตรเครดิตของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ในขณะที่ สถาบันการเงินวอลล์สตรีท กำลังถอยห่างจากความทะเยอทะยานในธุรกิจการเงินผู้บริโภค ด้านซิงโครนี ไฟแนนเชียล (Synchrony Financial) ผู้ออกบัตรเครดิต ก็กำลังหารือกับแอปเปิลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านบัตรเครดิตเช่นกัน

*** Taiwan Semiconductor Manufacturing Co หรือ TSMC ผู้ผลิตชิปขั้นสูงชั้นนำระดับโลกสัญชาติไต้หวัน คาดว่าจะรายงานกำไรไตรมาส 4 ปี 2024 เพิ่มขึ้น 58% ในวันพฤหัสบดี เนื่องมาจากความต้องการชิปที่แข็งแกร่ง โดยผู้ผลิตชิปตามสัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีลูกค้ารวมถึง Apple และ Nvidia ได้รับประโยชน์จากเทรนด์ความต้องการของ AI แม้บริษัทกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการบริหารงานของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคุกคามภาษีนำเข้า

*** ผลสำรวจของรอยเตอร์ ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่น 2 ใน 3 แห่ง กำลังได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างรุนแรง เนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ จำนวนประชากรของประเทศยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ผลิตและบริษัทขนาดเล็ก กำลังเพิ่มสูงขึ้นในระดับประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ข้อจำกัดด้านอุปทานนี้ อาจขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

*** นักวิเคราะห์รายงานว่า จีนกำลังประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้งวงจรภาวะเงินฝืด และมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะราคาสินค้าลดลงทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยภาวะเงินฝืดของจีน ยังคงดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2024 ที่ผ่านมา

*** ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 5.75% แม้นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 38 รายที่บลูมเบิร์กสำรวจ ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซีย จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม