สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอ้างอิงข้อมูลจาก CreditCards.com แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 5 ของชาวอเมริกัน กำลังซื้อสินค้ามากกว่าปกติ ส่วนใหญ่เป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสะท้อนถึงความวิตกกังวลของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
โดยภาษีนำเข้ามักส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หรือส่งต่อให้ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้า และอาจนำไปสู่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในวงกว้าง เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากต่างประเทศ
สำหรับผู้บริโภค ความวิตกกังวลว่า ค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น มักกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการกักตุนสินค้า โดยเฉพาะอาหารที่ไม่เน่าเสีย กระดาษชำระ และเวชภัณฑ์ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการเร่งซื้อสินค้า ก่อนที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ตามรายงานยังระบุว่า ผลกระทบของภาษีศุลกากรที่ทรัมป์วางแผนจะเก็บต่อการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 22% ชี้ว่า มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อีก 30% ชี้ว่า มีผลกระทบบ้าง
ด้านวอลล์สตรีท มีความวิตกกังวลว่า ภาษีศุลกากร อาจเร่งให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และเป็นการขัดขวางไม่ให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย และชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วย
รายงานยังระบุว่า 1 ใน 5 ของชาวอเมริกัน ชี้ว่า การซื้อสินค้าล่าสุดเป็นไปในลักษณะ “การใช้จ่ายเกินตัว” (doom spending) และ 23% ของชาวอเมริกันคาดว่า อาจต้องก่อหนี้ หรือเพิ่มหนี้บัตรเครดิตในปีนี้ ซึ่ง Doom spending คือพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่มากเกินไป หรือซื้อแบบหุนหันพลันแล่น เนื่องจากความไม่แน่นอน หรือความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ซึ่งมักถูกกระตุ้นโดยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ได้อธิบายถึงความท้าทายด้านสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากขึ้น จากแผนการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ที่อาจทำให้การค้าโลกปั่นป่วนและกระตุ้นให้บางบริษัทย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ
ที่มา: รอยเตอร์