BBLAM Asset Allocation Corner: Bleisure วิถีการทำงานในยุคใหม่ ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น

BBLAM Asset Allocation Corner: Bleisure วิถีการทำงานในยุคใหม่ ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา ประกอบการการระบาดของเชื้อ Covid-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานมากมาย โดยรูปแบบการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work-From-Home ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างโอกาสทางธุรกิจในวงกว้างมากที่สุด จากการลงทุนด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งการปรับปรุงบ้านให้มีความน่าอยู่ และเพื่อรองรับการทำงานภายในบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ดี การทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศตะวันตก เนื่องจากช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความพอใจให้กับพนักงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ดีเช่นกัน  ก็คือ รูปแบบการทำงานที่เรียกว่า Bleisure

Bleisure หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำศัพท์นี้มาสักพักแล้ว แต่กระแสดังกล่าวถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญ คือ ภาคธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกิจกรรมดังกล่าวจนได้รับผลเชิงบวกมากขึ้น โดย Bleisure มาจากการรวมกันของคำว่า Business และ Leisure เป็นการสะท้อนวิถีการทำงานนอกสถานที่ ที่ผสมผสานกิจกรรมท่องเที่ยวและพักผ่อนเข้าไปด้วยระหว่างการเดินทางไปทำงานต่างถิ่น โดยผลการสำรวจจากผู้เดินทางทั่วโลกของ Global Business Traveler Association (GBTA) ก็สะท้อนความนิยมในในกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า

  • กว่า 70% ของกลุ่มพนักงานอายุระหว่าง 25-30 ปี ที่เดินทางในลักษณะ Business Trip จะขยายเวลาเพื่อทำงานนอกสถานที่ หรือลาพักผ่อนเพิ่มเติมเพื่อกิจกรรมท่องเที่ยว
  • 44% ของพนักงานที่เดินทาง Business Trip จะมีผู้ติดตามเดินทางไปด้วย
  • 58% ของผู้เดินทาง Business Trip มีลูกหลานอยู่ที่บ้าน แต่บุคคลในกลุ่มดังกล่าวเองก็มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาพักผ่อนเพิ่มเติม โดยที่ไม่ได้มีเด็กมาร่วมเดินทางด้วย

ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ Bleisure ได้รับความนิยมและมีความเป็นไปได้มากขึ้น มาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเชื่อมต่อที่รวดเร็วมากขึ้นจากช่วงทศวรรษก่อนหน้า ทำให้เราสามารถทำงานนอกสถานที่ได้ ขณะที่ในมุมของฝ่ายทรัพยากรบุคคลของนายจ้าง การอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานนอกสถานที่ จะช่วยเพิ่มความพอใจของพนักงานต่อองค์กรโดยไม่มีต้นทุนเพิ่มเติม นอกจากนี้ Bleisure ยังช่วยให้พนักงานที่ติดต่อกับคู่ค้าภายนอก มีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของคู่ค้าในภูมิภาคดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น และจะช่วยส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงธุรกิจได้ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของการบริหารความเสี่ยงองค์กร ถึงแม้การที่พนักงานจะสามารถทำงานนอกสถานที่ได้ จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้กับพนักงาน แต่การทำงานนอกสถานที่ยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง และองค์กรต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเช่นกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการดำเนินงานขององค์กร ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการทำงานที่อาจจะลดลง รวมถึงประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล ที่อาจรั่วไหลจากอุปกรณ์ที่สูญหาย หรือจากการเชื่อมต่อที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอ ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องกำหนดกฎระเบียบในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้ชัดเจนและเข้มงวด ก่อนจะอนุญาตให้พนักงานสามารถเดินทางไปนอกสถานที่เพื่อปฏิบัติงานได้

กลับมาที่ประเด็นของ Bleisure ซึ่งได้รับความนิยมที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังส่งผลเชิงบวกให้มีการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ด้วยอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การขยายจำนวนคืนที่เข้าพักในโรงแรมเพื่อพักผ่อนท่องเที่ยว หรือการจองโรงแรมข้ามสัปดาห์เพื่อทำงานนอกสถานที่ แทนการบินไปกลับหลายรอบเพื่อเจรจากับคู่ค้า อีกทั้งด้านการเดินทางที่ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนตัว ส่งผลให้มีงบประมาณสำหรับการซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ มากขึ้น เช่น การซื้อสินค้า Premium Brand ที่ช่วยให้ผู้ซื้อดูดีและใช้งานได้จริง ทั้งในทริปธุรกิจและท่องเที่ยว รวมถึงบริการด้านอาหารและสปาที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นต้น ขณะที่ การทำงานแบบ Bleisure ในหลายกรณี มักจะมีผู้ติดตามเดินทางมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว หรือเพื่อน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้บริการจากการเดินทางคนเดียวได้มากกว่าเท่าตัว นอกจากนี้ ประโยชน์ที่สำคัญในระยะยาว คือ การกลับมาใช้บริการซ้ำของผู้เดินทางที่เกิดความประทับใจ ซึ่งอาจจะแนะนำต่อกันให้กับคนที่รู้จักต่อไป

ในเมื่อแนวโน้มของผู้เดินทางประเภท Bleisure จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มผู้เดินทางดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากตลาดดังกล่าวมีขนาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรมก็ปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มผู้เดินทางดังกล่าวอย่างมากมาย อาทิ

  • การสื่อความโฆษณาถึงความพร้อมและความสะดวกในการให้บริการในรูปแบบ Bleisure
  • การร่วมมือกับภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ เพื่อเสนอโปรโมชันสำหรับการเข้าพักในรูปแบบ Corporate Partnership
  • การสร้างฐานข้อมูลลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการ Check-in ผ่าน Application เพื่อลดขั้นตอนที่หน้าเคาน์เตอร์ รวมถึงเพื่อสามารถแนะนำรูปแบบห้องพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตรงกับความต้องการแต่ละราย
  • การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการทำงาน โดยเฉพาะห้องสำหรับการประชุมทางการ
  • การขยายบริการและสิทธิประโยชน์ระหว่างเครือข่ายของโรงแรม

การปรับกลยุทธ์ดังกล่าวสามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับผู้เข้าพักได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจโรงแรม ต่างมีรายได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2023 กลุ่มบริษัทโรงแรมชั้นนำในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีรายได้ที่เติบโตมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต Covid-19 แล้ว ยกตัวอย่างเช่น

  • Marriott ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์โรงแรม Marriott, Ritz Carlton, St.Regis, W Hotels, Sheraton, Le Meridien และ Renaissance มีรายได้เติบโตจาก 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2019 มาอยู่ที่ 2.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2023 สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เน้นการขยายแบรนด์ที่หรูหราและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับกลุ่มผู้เข้าพักประเภท Bleisure
  • Hilton เจ้าของแบรนด์โรงแรม Hilton, Conrad, Waldorf Astoria, และ Double Tree มีรายได้เติบโตจาก 9.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2019 มาอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายแบรนด์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะ Hilton Garden Inn และ DoubleTree เพื่อรองรับทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวทั่วไป ส่งเสริมการเติบโตจากความต้องการพักผ่อนที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวแบบ Bleisure
  • Intercontinental เจ้าของแบรนด์โรงแรม Intercontinental, Six Sense, Regent, Kimpton, Hotel Indigo, Crown Plaza, และ Holiday Inn รายได้ 2019 อยู่ที่ 4.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2023 เท่ากับ 4.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นเครือโรงแรมที่ยังมีรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต Covid-19 หดตัวเล็กน้อย โดยหดตัวจาก 4.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2019 มาอยู่ที่ 4.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การขยายแบรนด์หรูอย่าง Regent และ Intercontinental ตลอดจนการให้บริการที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรายได้ในตลาดที่กำลังฟื้นตัว

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมเหล่านี้ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยนอกจากการเติบโตของการทำงานแบบ Bleisure แล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มประชากรวัย Gen Z ที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงานและกำลังมีรายได้ที่เติบโต รวมถึงการขยายตัวของเมืองต่างๆ (Urbanization) ที่ช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้ด้วย โดยถึงแม้ธุรกิจโรงแรมชั้นนำที่กล่าวมาจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่เราสามารถเข้าถึงโอกาสในการลงทุนดังกล่าวได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ซึ่งหนึ่งในช่องทางที่น่าสนใจ คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม โดย BBLAM มีกองทุนเปิดบัวหลวง Premium Brands (B-PREMIUM) ที่ลงทุนในกองทุนปลายทาง Pictet Premium Brands Fund เน้นลงทุนในหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงทั่วโลก โดยเราเชื่อว่า การกระจายการลงทุนส่วนหนึ่งมาที่ธุรกิจ Premium Brands ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอและมีความยั่งยืนในระยะยาว จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้

พูนสิน เพ่งสมบูรณ์

BBLAM