ยอดดับแผ่นดินไหวเมียนมา ทะลุ 1,700 ราย คาดเพิ่มขึ้นอีก หลังพ้น 72 ชม.แรก

ยอดดับแผ่นดินไหวเมียนมา ทะลุ 1,700 ราย คาดเพิ่มขึ้นอีก หลังพ้น 72 ชม.แรก

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษของเมียนมา พุ่งทะลุ 1,700 ราย หลังภาวะสงครามกลางเมืองทำให้ความพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตภายในกรอบเวลา 72 ชั่วโมงเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งหากเลยช่วงเวลานี้ไปแล้ว โอกาสพบผู้รอดชีวิตจะเหลือน้อยลงมาก

จากการเปิดเผยของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ราว 3,400 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้สูญหายกว่า 300 คน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มี.ค. โดยแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ไกลถึงประเทศไทย เวียดนาม และจีน อีกทั้งยังมีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 5.1 เกิดขึ้นใกล้เมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

แผ่นดินไหวครั้งนี้ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับเมียนมา ซึ่งกำลังประสบกับสงครามกลางเมือง และอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งแม้ก่อนเกิดแผ่นดินไหว องค์การสหประชาชาติได้ระบุว่า มีประชากรราว 19.9 ล้านคนในเมียนมา ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มกบฏเมียนมาประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหาร ยังไม่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมการหยุดยิงหรือไม่ โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ยังคงมีการโจมตีทางอากาศใกล้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาทิ ภูมิภาคสะกายและเมืองมัณฑะเลย์ ยังคงเผชิญความขัดแย้งและไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ ทำให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยองค์การฯ ยังต้องการความช่วยเหลือด้านงบประ มาณจำนวน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และฟื้นฟูระบบสาธารณสุขที่จำเป็นในช่วง 30 วันข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ฌาปนสถานในมัณฑะเลย์ยังต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากจำนวนศพจากเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลทหาร ได้สั่งห้ามนักข่าวต่างชาติรายงานจากพื้นที่ประสบภัย ทำให้ยากต่อการประเมินสถานการณ์ โดยโฆษกรัฐบาลทหาร พลโท ซอ มิน ตุน กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงมี “ความยากลำบาก” ในการออกวีซ่าให้กับนักข่าวต่างชาติ

ขณะที่ เมียว มิน โซ ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง ในมัณฑะเลย์ เล่าว่า “ยังมีผู้คนติดอยู่ใต้ซากอาคาร รวมถึงโรงแรมขนาดใหญ่ บางคนอาจยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีเครื่องจักรเพียงพอในการเคลียร์ซากปรักหักพังทั้งหมด”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในประเทศไทย พบมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 ราย โดยความพยายามค้นหาผู้ที่ยังคงสูญหายอีกหลายสิบคนยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่ม

ทั้งนี้ แบบจำลองของ United States Geological Survey คาดการณ์ว่า ผู้เสียชีวิตในเมียนมา อาจมีมากกว่า 10,000 ราย และความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจเกินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยก่อนหน้านี้ เมียนมาเคยเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ เมื่อพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มในปี 2008 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนประมาณ 138,000 ราย

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังฝ่ายค้านกับรัฐบาลทหาร ส่งผลให้ประชาชนกว่า 3.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่น โดยองค์การสหประชาชาติระบุว่าผู้พลัดถิ่นภายในประเทศราว 1.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

ที่มา: บลูมเบิร์ก