ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย เชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.50% ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 น่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในด้านต้นทุนการเงิน และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวของรายได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนสถานะการเงินของภาคครัวเรือน ยังไม่มีความเข้มแข็ง
จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เติบโตช้า และหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมถดถอยลง โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน ของอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ของสินเชื่อรวมในปี 2567 (จากสิ้นปี 2566: 2.2% และปี 2565: 1.9%)
“ฟิทช์ เชื่อว่าคุณภาพสินทรัพย์ จะยังคงเป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมในปี 2568 แม้จะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน และมีการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ และลดระดับหนี้สินครัวเรือน”
คุณภาพสินทรัพย์ของผู้ประกอบการบางรายนั้น ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการประเมินสินเชื่ออย่างรวดเร็ว และทันเวลา ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (Stage 3) และอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (credit cost) ในปี 2567 ของ MTC ปรับตัวลดลงเป็น 2.8% และ 3.0% ตามลำดับ (ปี 2566: 3.1% และ 3.7%) หลังจากที่บริษัทได้ลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และการให้เช่าซื้อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลดลงเหลือ 15% ของพอร์ตสินเชื่อในปี 2567 (จากปี 2565: 23%)
อย่างไรก็ดี สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ก็อาจส่งแรงกดดันให้อัตราส่วนทางการเงินด้านคุณภาพสินเชื่อปรับตัวแย่ลงได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมที่มีการให้สินเชื่อในผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน ก็ยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ระดับที่ค่อนข้างคงที่เช่นกัน
ฟิทช์ เชื่อว่าแรงกดดันด้านการเติบโตและคุณภาพสินทรัพย์ของผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียนในไทย ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในระยะสั้น แต่บริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี น่าจะมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจ แม้ผู้ประกอบการบางรายสามารถรับมือกับความเสี่ยงและปรับตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา อาจจะเป็นแรงต้านสำหรับการการเติบโตของสินเชื่อ และการปรับตัวดีขึ้นของคุณภาพของสินทรัพย์
ยอดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 11% โดยเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ในช่วงปี 2563-2566 ที่ระดับ 31% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC; BB/A-(tha)/อันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มีอัตราการเติบโต ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (ในปี 2567: 15%; และ ปี 2566: 19%)
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการที่มีการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่สูงกว่า เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถบรรทุก พบว่าคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวด้อยลง โดยบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD, A-(tha)/อันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Stage 3) เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2567 (สิ้นปี 2566: 3.1%; สิ้นปี 2565: 2.5%) อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับปานกลางของบริษัท ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของ SAWAD ซึ่งการปรับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะช่วยจำกัดการปรับตัวด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์ได้
ความสามารถในการทำกำไรยังคงเป็นจุดแข็งหลักสำหรับผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียนรายใหญ่ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดย MTC มีอัตรากำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ในปี 2567 จาก 4.4% ในปี 2566 ในขณะที่ อัตรากำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของ SAWAD ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 6.0% (จากปี 2566: 7.3%)
ส่วนแนวคิดของรัฐบาลในการรับซื้อคืนหนี้ประชาชน เพื่อหวังให้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น นายพัชรา สารยุทธ ผู้อำนวยการ สถาบันการเงิน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย มองว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งการที่จะรับซื้อ NPL นั้นต้องดูว่าวัตถุประสงค์จะซื้อไปเพื่ออะไร การจะใช้แนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการยืดเวลาชำระหนี้ หรือปรับลดวงเงินชำระหนี้ อาจจะไม่ช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลงได้เท่าไรนัก ขณะที่หากจะยกหนี้ให้เลยนั้น ก็อาจไม่ได้สร้างวินัยทางการเงินที่ดี และยังต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
“ต้องดูว่า NPL ที่ซื้อไป เอาไปทำอะไร ถ้าจะให้ลูกหนี้ผ่อนนาน ผ่อนน้อย หนี้ครัวเรือนคงไม่ลด แต่อาจไปช่วยในเรื่องที่ทำให้คนมีรายได้เพิ่ม นำไปจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่ม แต่ถ้าจะยกหนี้ให้เลย อาจเป็นตัวอย่างไม่ดีในวินัยทางการเงิน เพราะใช้งบมาก ประโยชน์อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย”
ที่มา: สำนักข่าว อินโฟเควสท์