อุณหภูมิการค้าโลกชั่วโมงนี้ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทั่วโลกเริ่มนับถอยหลังรอ จับตามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศออกมาในวันที่ 2 เม.ย. เวลา 16.00 น. ตามเวลาสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.00 น. ของเช้าวันที่ 3 เม.ย. ตามเวลาไทย ซึ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกว่าเป็น “วันปลดปล่อย” (Liberation Day) แต่สิ่งที่ยังเป็นคำถามคาใจอยู่ในตอนนี้ ยังเป็น 3 ประเด็นหลักที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนภาษีรอบใหม่ นั่นคือ อัตราภาษี ประเทศเป้าหมาย และผลกระทบ
สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีศุลกากรมากน้อยเพียงใด
ทำเนียบขาวยังไม่ได้ระบุว่า จะเก็บภาษีศุลกากรในอัตราเท่าใด ขณะที่ นักวิเคราะห์ก็มีมุมมองและคาดการณ์ในหลายทิศทาง
ย้อนไปช่วงหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์สนับสนุนให้เรียกเก็บภาษีศุลกากร 10% สำหรับสินค้าที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ ทั้งหมด และเสนอให้เก็บภาษีจากจีน 20-60% แต่เมื่อรับตำแหน่งทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ในอัตราที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศอื่นเก็บจากสหรัฐฯ เท่าไร สหรัฐฯ ก็จะเก็บในอัตราเดียวกันจากประเทศเหล่านั้น ไม่นานหลังจากที่พูด ทรัมป์ก็ออกคำสั่งให้ทำแผนภาษีทันที
ไม่เพียงแค่นี้ ทำเนียบขาวยังกำหนดนโยบายอื่นตามมา เพื่อจัดการสิ่งที่มองว่า ไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจของอเมริกา เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งยิ่งสร้างความปั่นป่วนมากขึ้นไปอีกต่อธุรกิจและการเมืองในประเทศคู่ค้าที่พยายามเดาใจทรัมป์ว่า จะสั่งเก็บภาษีสินค้าของประเทศตัวเองเท่าใด และมาตรการที่จะประกาศในวันที่ 2 เม.ย. จะสัมพันธ์กับภาษีอื่น ๆ ที่ประกาศไปแล้ว อย่างภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม อย่างไร
ประเทศใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ
รัฐบาลทรัมป์ยังไม่ได้ยืนยันว่า ประเทศใดบ้างจะถูกเก็บภาษี โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) ประธานาธิบดีกล่าวว่า ภาษีรอบใหม่นี้อาจใช้กับ “ทุกประเทศ” ซึ่งบ่งชี้ว่า อาจมีการกลับมาใช้แผนภาษีแบบครอบจักรวาล ตามที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งอาจทำลายความหวังสำหรับประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ที่คิดว่าอาจรอดพ้นการตกเป็นเป้าหมายด้านภาษี
ขณะที่หลายประเทศยังคงหวังว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงบางส่วนผ่านการเจรจาได้ ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้ว สหรัฐฯ จะเคาะแผนภาษีขั้นสุดท้าย แบบเก็บครอบคลุม หรือพุ่งเป้าเจาะจงรายอุตสาหกรรม หรือมีประเทศใดบ้าง
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการภาษีจะเน้นไปที่กลุ่ม “Dirty 15” ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และมีการตั้งกำแพงภาษีหรือมาตรการอื่นๆ ที่ทำให้บริษัทสหรัฐฯ เสียเปรียบ
ประเทศดังกล่าวประกอบด้วย จีน สหภาพยุโรป (EU) เม็กซิโก เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อินเดีย ไทย สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และแอฟริกาใต้
ผลกระทบมาตรการภาษี
คำถามใหญ่ คือ ใครจะต้องจ่ายภาษีศุลกากร ในทางเทคนิคนั้น คำตอบง่ายๆ ก็คือ บริษัทของสหรัฐฯ ที่นำสินค้าเข้ามาจะเป็นผู้จ่าย
แต่ยิ่งมีการเก็บภาษีในอัตราสูงมากเท่าใด บริษัทยิ่งต้องหาวิธีชดเชยต้นทุนเหล่านั้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนซัพพลายเออร์ การผลักดันให้หุ้นส่วนธุรกิจร่วมกันแบ่งเบาภาระ หรือขึ้นราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภค
บริษัทหลายแห่งกล่าวว่า ได้เตรียมการสำหรับขั้นตอนดังกล่าวแล้ว แต่ก็ต้องแลกมากับความเสี่ยง เพราะหากขึ้นราคาสินค้ามากเกินไป ผู้ซื้อก็จะถอยหนี ซึ่งพลวัตดังกล่าวยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบริษัทหลายแห่งพึ่งพายอดขายในสหรัฐฯ
ถึงทรัมป์จะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องยาก หากบริษัทใดที่ไม่อยากถูกขึ้นภาษี แค่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในสหรัฐฯ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายในทันที เนื่องจากต้นทุนที่สูงในการจ้างงานและตั้งโรงงาน
ขณะที่ ความผันผวนของค่าเงินและการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ยังสร้างความซับซ้อนต่อแนวโน้มในอนาคต รวมถึงความพยายามของทรัมป์ในการสร้างสมดุลการค้าโลก ก็คาดเดาได้ยากด้วยเช่นกัน หลังการประกาศมาตรการภาษีในวันพุธนี้
ที่มา: บีบีซี