ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 6% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุด นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2022 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอินเดีย ถือเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ และเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 26% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากอินเดีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับ 9.31 น. ตามเวลาประเทศอินเดียในวันนี้
ธนาคารกลางอินเดีย ระบุในแถลงการณ์นโยบายการเงินว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ นำไปสู่ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค ก่อให้เกิดแรงกดดันใหม่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งการดำเนินการของธนาคารกลางอินเดียในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ
ธนาคารกลางอินเดีย ระบุเพิ่มเติมว่า การปรับลดดอกเบี้ย มีสาเหตุมาจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมระบุว่า ขณะนี้มีความมั่นใจมากขึ้นว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับเป้าหมายที่ 4% ภายใน 12 เดือนข้างหน้า “อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย การเติบโตยังคงอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว หลังจากที่เศรษฐกิจมีผลงานที่ไม่น่าพึงพอใจในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2024-2025” (ช่วงเดือนเม.ย.- ก.ย. 2024)
ล่าสุด GDP ของอินเดียเติบโตเพียง 6.2% ในไตรมาส 4 ของปี 2024 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตที่ 6.5% ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2025 ซึ่ชะลอตัวอย่างชัดเจนจากการเติบโต 9.2% ในปีก่อนหน้า
รายงานจาก HSBC เมื่อวันที่ 7 เม.ย. คาดการณ์ว่า ภาษีที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะลดลง 0.5 % ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2026 และยังมีผลกระทบทางอ้อม เช่น การส่งออกที่ลดลง และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อ่อนแอลง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของอินเดียในเดือนก.พ. อยู่ที่ 3.61% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาผักที่ปรับตัวลดลง และถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนก.ค. 2024 โดยธนาคารกลางอินเดีย คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี จะอยู่ที่ 4% สำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2026
ที่มา: CNBC