Moody’s Ratings ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือ (Credit Outlook) ของไทยเป็น “ลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” ชี้มีความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายใน-ภายนอก แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ที่ระดับ Baa1 และคงอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ ที่ระดับ P-2
*** ภาษีสหรัฐฯ เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ
ไทยถูกปรับลดมุมมองจากระดับ “มีเสถียรภาพ” (Stable) สู่ “เชิงลบ” (Negative) จากหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยอาจอ่อนแอลง โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงความไม่แน่นอนว่า สหรัฐฯ จะบังคับใช้ภาษีนำเข้ากับไทยและประเทศอื่นๆ หลังสิ้นสุดการผ่อนผัน 90 วันหรือไม่
แนวโน้มเชิงลบดังกล่าวยิ่งตอกย้ำเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวล่าช้าอยู่แล้ว หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงที่การเติบโตของประเทศมีแนวโน้มถดถอยลง แรงกดดันเหล่านี้ต่อเศรษฐกิจไทยอาจทำให้สถานะการคลังของรัฐบาล ซึ่งได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงโรคระบาด ยิ่งอ่อนแอลง
*** คงอันดับความน่าเชื่อถือ “Baa1”
อย่างไรก็ดี Moody’s Ratings ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย อยู่ที่ระดับ Baa1 ซึ่งสะท้อนถึงสถาบันและธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่งปานกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนนโยบายการเงินและการคลังที่มั่นคง นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่า หนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่โควิด-19 ก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ได้แรงหนุนจากตลาดภายในประเทศและหนี้ที่กู้ยืมเป็นสกุลเงินท้องถิ่น รวมไปถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอของไทย
ขณะเดียวกัน เพดานสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินต่างประเทศของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ระดับ Aa3 และ A1 ตามลำดับ ซึ่งช่องว่างระหว่างเพดานสกุลเงินท้องถิ่นและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสะท้อนถึงสมดุล ระหว่างเสถียรภาพภายนอก (External Balance) และประสิทธิภาพในฝั่งสถาบัน เมื่อเทียบกับผลกระทบที่ค่อนข้างใหญ่ในแง่เศรษฐกิจและความเสี่ยงทางการเมืองที่รัฐบาลจะต้องเผชิญ
*** หั่นเป้า GDP ไทย เหลือโต 2%
Moody’s Ratings ปรับลดคาดการณ์ GDP ที่แท้จริงของไทยปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2% จากระดับ 2.9% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อ6 เดือนก่อน เนื่องจากความเสี่ยงขาลงจากสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.22 จุด จากปีงบประมาณ 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 ขณะที่ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของประเทศยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการเพิ่มศักยภาพทางการคลังและการรวมหนี้ ซึ่งความล่าช้าในด้านศักยภาพทางการคลังและการรวมหนี้นั้น ยังสะท้อนให้เห็นในแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนธ.ค. 2567 เมื่อเทียบกับแผน MTFF ที่เผยแพร่ในเดือนพ.ค. 2567
*** การประเมิน ESG ต่ออันดับความน่าเชื่อถือ
คะแนนผลกระทบด้าน ESG ต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (ESG Credit Impact Score) ของไทย ยังสะท้อนถึงความท้าทายด้านประชากรของประเทศ โดยเฉพาะประชากรสูงอายุ และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมจากภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ซึ่งผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้รับการบรรเทาจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งด้านธรรมาภิบาล ซึ่งช่วยส่งเสริมเสถียรภาพโดยรวมในการเติบโตระดับมหภาค และสนับสนุนความสามารถของรัฐบาลในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านประชากรและสิ่งแวดล้อม
*** ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การปรับเพิ่ม-ลดอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคต
หากไทยสามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรับมือต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้านได้ดีกว่าที่คาด เช่น ผลลัพธ์การเติบโตในด้านต่างๆ ที่แข็งแกร่งกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการคลังที่ดีตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้ อาจทำให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยกลับมายืนอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง หากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจยังถูกกัดกร่อนต่อไป เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากความท้าทายเชิงโครงสร้างหรือปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล เช่น ผลกระทบจากภาษีนำเข้า
ที่มา Investing.com, สำนักข่าว อีไฟแนนซ์ไทย