Moody’s Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของสหรัฐฯ จาก Aaa ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ลงมาอยู่ที่ Aa1 โดยให้เหตุผลถึงภาระหนี้สะสมของรัฐบาล การปรับลดอันดับครั้งนี้อาจทำให้ความพยายามในการลดภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดโลก
การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้ ซึ่งคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ไว้ที่ระดับสูงสุดมาตั้งแต่ปี 1917 โดยก่อนหน้านี้ Fitch Ratings ได้ลดอันดับไปเมื่อปี 2011 และ S&P Global Ratings ในปี 2023 ซึ่ง Moody’s ให้เหตุผลว่า รัฐบาลสหรัฐฯ หลายชุดที่ผ่านมาไม่สามารถหยุดยั้งภาระหนี้ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการที่ฝ่ายบริหารและสภาคองเกรสไม่สามารถหามาตรการเพื่อจัดการการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลและต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม Moody’s ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตจาก “เชิงลบ” เป็น “มีเสถียรภาพ” โดยระบุว่า สหรัฐฯ ยังคงมีจุดแข็งด้านเครดิตที่โดดเด่น ทั้งเรื่องขนาด ความยืดหยุ่น และพลวัต หรือความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก
แถลงการณ์ของ Moody’s ยังคาดว่า การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอาจเกือบถึง 9% ของ GDP ภายในปี 2035 จากระดับ 6.4% ในปี 2024 โดยส่วนใหญ่เกิดจากดอกเบี้ยหนี้ที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น และการจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ การขยายมาตรการลดหย่อนภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสภาคองเกรส อาจทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งยังไม่รวมอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
ที่มา Aljazeera, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย