นักวิเคราะห์กังวล แนวโน้มเงินฝืดจีนอาจรุนแรงขึ้น หลังสิ้นสุดระงับภาษี 90 วัน

นักวิเคราะห์กังวล แนวโน้มเงินฝืดจีนอาจรุนแรงขึ้น หลังสิ้นสุดระงับภาษี 90 วัน

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดในจีนจะรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกในปีนี้ หลังสิ้นสุดข้อตกลงระงับภาษี 90 วัน ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2025 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่ Bloomberg เริ่มทำการสำรวจในปี 2023 และลดลงจากการคาดการณ์ 0.4% ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จีนประสบกับภาวะราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจลดลง และอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน แม้เศรษฐกิจจีนจะได้รับการปรับมุมมองที่ดีขึ้น จากข้อตกลงระงับภาษีการค้ากับสหรัฐฯ ชั่วคราว แต่แนวโน้มราคายังคงแย่ลง โดยผลสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 67 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่า GDP ของจีนในปีนี้จะเติบโตที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 4.2%

การพักภาษีชั่วคราว ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังเผชิญกับสงครามราคาและวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งทำให้ความต้องการภายในประเทศหดตัว อีกทั้งภาวะเงินฝืด กำลังบั่นทอนกำไรของภาคธุรกิจและรายได้ของแรงงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดวัฏจักรลบที่ทำให้ราคาลดลงต่อเนื่อง ถึงกระนั้น การระงับภาษี 90 วัน ได้ส่งผลให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ พุ่งขึ้น เมื่อบริษัทต่างๆ เร่งสั่งซื้อสินค้า ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับคาดการณ์ปี 2025 ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกจะเติบโต 1.1% เทียบกับที่เคยคาดว่าจะหดตัว 1% ในเดือนเม.ย.

นอกจากการค้าแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกของจีนในปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ฉากหลังทางการค้าที่ดีขึ้น หมายความว่า รัฐบาลจีนอาจใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการด้านการคลัง หรือนโยบายการเงิน

ผลสำรวจยังคาดว่า ธนาคารกลางจีนจะลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น Reverse Repo 7 วัน ลงเพียง 0.10% ในไตรมาส 4 ขณะที่ อัตราส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) คาดว่าจะลดลง 0.50% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ความระมัดระวังเชิงนโยบายของรัฐบาลจีน อาจยิ่งเพิ่มข้อสงสัยต่อความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ จีนกำลังมุ่งสู่ช่วงที่ราคาสินค้าลดลงติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ลดทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราส่วนเงินสำรองลง

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าโรงงาน ก่อนถึงมือผู้บริโภค คาดว่าจะลดลง 2% ในปีนี้ แย่กว่าคาดการณ์ก่อนหน้าที่ลดลง 1.8% ขณะที่ ราคาผู้บริโภคตั้งแต่ต้นปี จนถึงขณะนี้ ลดลงแล้ว 0.1%

ที่มา Bloomberg , สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย