สรุปภาพรวมตลาดเอเชีย ครึ่งปีแรก 2568: ภาษีทรัมป์-สงครามการค้า-ภูมิรัฐศาสตร์ เขย่าความเชื่อมั่นนักลงทุน
ผ่านมาครึ่งปีแล้วสำหรับปี 2568 หลายคนคงเห็นตรงกันว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย! โดยเฉพาะในแวดวงการลงทุนที่ตลาดทั่วโลก รวมถึงในเอเชียบ้านเรา ต่างเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งผลกระทบจากภาษีทรัมป์และสงครามการค้า สถานการณ์ความขัดแย้งในหลายภูมิภาค รวมถึงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในหลายประเทศสำคัญ
โดยสำนักข่าว Nikkei Asia ได้รวบรวมสถานการณ์ของตลาดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งตลาดหุ้น ค่าเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดพันธบัตรในเอเชียไว้ดังนี้
*** ตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และฮ่องกงเป็นหนึ่งในตลาดที่โชว์ฟอร์มโดดเด่นที่สุดในช่วงปีนี้ โดยดัชนีหลักพุ่งขึ้นกว่า 20% ในครึ่งแรกของปี ซึ่งปัจจัยที่หนุนการพุ่งขึ้นของหุ้นในเกาหลีใต้ มาจากการเมืองที่กลับบมามีเสถียรภาพ หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดี อี แจ-มยอง ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ ได้ให้คำมั่นว่า จะดำเนินการปฏิรูปตลาดเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นของประเทศ
หุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อย่าง SK Hynix และ Samsung Electronics เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ยังดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก
ส่วนในฝั่งฮ่องกง การเสนอขายหุ้น IPO กำลังกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่เลือกเข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงกันมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตัน
ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า จีนเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทหลายแห่งที่อยู่ในดัชนี Hang Seng โดยคิดเป็นสัดส่วน 70% ของรายได้ทั้งหมด
Heron Lim นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคจีน ของ Moody’s Analytics กล่าวว่า “แนวโน้มตลาด IPO ของฮ่องกงและความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ช่วยฟื้นความสนใจของนักลงทุนในจีน ที่กำลังแสวงหาผลตอบแทน โดยลดสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐฯ ลง และมองหาโอกาสเติบโตในตลาดฮ่องกง” โดยมีภาคส่วนอย่างเทคโนโลยีและรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนแนวโน้มขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม Lim ระบุว่า หุ้นฮ่องกงยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัว เห็นได้จากดัชนี Hang Seng ที่ยังคงต่ำกว่าระดับปี 2021 และการหยุดชะงักในประเด็นการหารือกรอบการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นได้เช่นกัน
ขณะที่ ฝั่งตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและโตเกียวกำลังพุ่งขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่ามกลางการคาดการณ์ถึงการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 มิ.ย.) ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน
ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาลง โดยดัชนี SET ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองที่กำลังสั่นคลอน จากกรณีบทสนทนารั่วไหลในประเด็นข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชา ความขัดแย้งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังคงต้องเจรจาภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ต่อไป โดยทรัมป์กำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากไทยอยู่ที่ 36%
*** ค่าเงิน
ค่าเงินเอเชียฝั่งตะวันออก อาทิ ดอลลาร์ไต้หวัน, เยนญี่ปุ่น และ วอนเกาหลีใต้ แข็งค่าขึ้นมากในปีนี้
ดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเริ่มพุ่งขึ้นในเดือนพ.ค. หลังมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลทรัมป์ได้กดดันให้ไต้หวันยอมให้สกุลเงินของตนเองแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางการค้า
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทประกันภัยยังมีส่วนทำให้เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้น โดยบริษัทหลายแห่งได้พยายามลดผลกระทบจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ด้วยการเพิ่มอัตราการป้องกันความเสี่ยง (Hedge ratios) โดยเทขายดอลลาร์สหรัฐฯ และเข้าซื้อดอลลาร์ไต้หวัน
*** สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบเว็สต์ เท็กซัส (WTI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดในโลก ผันผวนอย่างหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน และการที่อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมัน อย่างไรก็ดี การที่ทรัมป์ประกาศข้อตกลงหยุดยิงในเวลาอันรวดเร็ว ได้คลายความกังวลเหล่านั้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ น้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ ลดลง 10% และ 11% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว
ขณะที่ กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC+ ได้เพิ่มการผลิตในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดย Seiichiro Shirai นักยุทธศาสตร์จาก Tokai Tokyo Intelligence Laboratory กล่าวว่า ปัจจัยนี้ทำให้อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มล้นตลาดได้ง่ายขึ้น และคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในสิ้นปีนี้
ด้านราคาทองแดงเพิ่มขึ้นกว่า 25% ขณะที่ ทองคำพุ่งขึ้น 24% โดยสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะที่กว่า 3,500 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ในเดือนเม.ย. เนื่องจากนักลงทุนเร่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเรื่องภาษีและการที่ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เรื่องการลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม Shirai กล่าวว่า ตลาดทองคำมีภาวะ “top-heavy” หมายถึง มีแรงขายรออยู่มากเมื่อราคาขึ้นสูง และน่าจะซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 3,200 – 3,450 ดอลลาร์ไปตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มขาย หรือชะลอการซื้อลง นอกจากนี้ยังมีการซื้อตุนไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าทรัมป์จะเก็บภาษีทองคำหรือไม่ จึงไม่มีใครรีบร้อนที่จะซื้อทองคำในช่วงที่ผ่านมา
*** ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
ผลตอบแทนพันธบัตร หรือบอนด์ยีลด์ในภูมิภาคที่พุ่งแรงนั้น คือ บอนด์ยีลด์รัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 10 ปี ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยพันธบัตร JGB เพิ่มขึ้นกว่า 0.35 จุดเปอร์เซ็นต์ แตะที่ประมาณ 1.445% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตร รุ่นอายุยาวพิเศษของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ท่ามกลางอุปสงค์ที่ซบเซา ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจชะลอการลดซื้อพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิหน้า โดยกระทรวงการคลังจะเริ่มลดการออกพันธบัตร JGB รุ่นอายุยาวพิเศษตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
Masamichi Adachi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศญี่ปุ่นของ UBS Securities ระบุว่า “แรงกดดันต่อผลตอบแทนพันธบัตรจะสูงขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนจำเป็นต้องน่าสนใจมากพอที่จะดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชน รวมถึงนักลงทุนต่างชาติและบุคคลทั่วไป นอกเหนือจากนักลงทุนดั้งเดิม เช่น ธนาคารและบริษัทประกันชีวิต ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญกว่า ซึ่งจะช่วยคลายความกังวล คือ วินัยทางการคลัง
ตลาดพันธบัตรยังได้รับผลกระทบจากการผ่อนคลายนโยบายการคลังของเยอรมนีในเดือนมี.ค. นำไปสู่การเทขายพันธบัตรทั่วโลก ขณะที่ เดือนพ.ค. ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังพุ่งสูงขึ้นจากความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ หลังจาก Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ
ตรงกันข้าม ผลตอบแทนพันธบัตรฝั่งตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย รวมถึงไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย กลับลดลง จากการที่นักลงทุนเทขายสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ และการที่ธนาคารกลางผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้าน Kota Hirayama หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่ของ SMBC Nikko Securities มองว่า สำหรับแนวโน้มของค่าเงินและผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและราคาน้ำมัน รวมถึงภาษีทรัมป์
Hirayama ระบุว่า ฉากทัศน์หนึ่งที่มีการคาดการณ์ คือ ทรัมป์จะขยายเวลาการระงับภาษี 90 วันออกไป และเปิดช่องเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์ และจะชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาพันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ได้
ที่มา Nikkei Asia, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย