การเจรจาค่าจ้างประจำปีของญี่ปุ่นได้ข้อสรุป เพิ่มค่าจ้างเฉลี่ย 5.25% มากที่สุดในรอบ 34 ปี หลังการประชุมของกลุ่มสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Rengo ในวันนี้
พนักงานในบริษัท 5,162 แห่งที่สังกัด Rengo ได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างเฉลี่ย 5.25% ในการเจรจาปีนี้ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะต่ำกว่าที่รายงานเบื้องต้นที่ 5.46% ในเดือนมี.ค. ก็ตาม แต่เป็นอัตราการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1991 โดย Rengo เป็นตัวแทนของพนักงานประมาณ 7 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของกำลังแรงงานทั้งหมดของญี่ปุ่น
รายงานในวันนี้แสดงให้เห็นว่า คนงานในบริษัทขนาดเล็กจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 4.65% เพิ่มขึ้นจาก 4.45% เมื่อปีที่แล้ว โดยปรับมากสุดในรอบ 33 ปี ส่งผลให้ช่องว่างค่าจ้างกับบริษัทขนาดใหญ่ ลดลงเหลือ 0.6 จุดเปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 0.65 จุดเปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว
การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แข็งแกร่ง ยังช่วยสนับสนุนเหตุผลที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางกำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตัดสินใจครั้งต่อไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก ด้านคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ เพิ่งส่งสัญญาณในเชิงระมัดระวัง เนื่องจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังขาดความชัดเจน พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการนโยบายทั้ง 9 คนของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีกำหนดลงมตินโยบายการเงินนัดต่อไปในช่วงปลายเดือนนี้ โดยตลาดส่วนใหญ่คาดว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.5%
สำหรับการเจรจาค่าจ้างปีนี้ Rengo มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มค่าจ้างให้กับบริษัทขนาดเล็ก โดยตั้งเป้าขึ้นค่าจ้าง 6% ให้กับกลุ่มนี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายค่าจ้างโดยรวม 5% โดยแรงงานเกือบ 70% ในญี่ปุ่นทำงานให้กับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มค่าแรงทั่วประเทศ
แม้ญี่ปุ่นจะปรับขึ้นค่าจ้างสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้บั่นทอนกำลังซื้อ โดยดัชนีเงินเฟ้อหลักยังคงอยู่ที่ หรือสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ BOJ มา 3 ปีแล้ว นอกจากนี้ แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังส่งผลกระทบต่อการบริโภค ลดทอนอัตรากำไรของบริษัท และจำกัดความสามารถของธุรกิจในการขึ้นค่าจ้าง ที่อาจกระทบต่อวงจรการขึ้นค่าจ้างและราคาสินค้าที่ผู้กำหนดนโยบายตั้งเป้าไว้
ก่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงเดือนก.ค. นี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ได้ให้คำมั่นว่าจะผลักดันนโยบาย เพื่อรับมือทั้งภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของค่าจ้างที่ยั่งยืน เพื่อลดภาระจากราคาที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน โมเมนตัมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ส่งออกได้ประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กำลังเริ่มลดการจัดส่งและปริมาณการผลิตเพื่อรับมือต่อแรงกดดันจากภาษี
ที่มา Japan Times , สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย