ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มแจ้งต่อประเทศคู่ค้าชาติต่างๆ ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจนถึงประเทศเล็กๆ รวมถึงประเทศไทย ว่า สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างมากและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ จดหมายที่ถูกส่งไปยัง 14 ประเทศ รวมถึงผู้ส่งออกรายย่อยของสหรัฐฯ อย่างเซอร์เบีย ไทย และตูนิเซีย ได้บอกเป็นนัยถึงโอกาสในการเจรจาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็เตือนว่า การตอบโต้ใดๆ จะได้รับการตอบสนองแบบเดียวกัน
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่า จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% และจะไม่รวมกับภาษีภาคส่วนอื่นๆ ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ เช่น ภาษีรถยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม ตัวอย่างเช่น ภาษีรถยนต์ญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ที่ 25% ไม่ได้เพิ่มเป็น 50% พร้อมเตือนว่า “หากประเทศใด ตัดสินใจขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้ ไม่ว่าเป็นจำนวนเท่าใด ก็จะถูกนำไปบวกเพิ่มจาก 25% ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บอยู่แล้ว”
ขณะที่ อัตราภาษีสำหรับประเทศไทย อยู่ที่ 36% เท่ากับกัมพูชา ด้านลาวและเมียนมาอยู่ที่ 40% ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 32% และมาเลเซียที่ระดับ 25% ด้านอัตราภาษีสำหรับชาติอื่นๆ ที่ได้รับประกาศในครั้งนี้ ประกอบด้วย 25% สำหรับสินค้าจาก ตูนิเซีย และคาซัคสถาน อัตรา 30% สำหรับแอฟริกาใต้ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อัตรา 35% สำหรับเซอร์เบียและบังกลาเทศ

โดยอัตราภาษีสำหรับเกาหลีใต้นั้น เท่ากับที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ประกาศในตอนแรก ขณะที่ อัตราภาษีสำหรับญี่ปุ่น เพิ่มสูงขึ้น 1% จากที่เคยประกาศในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า มีแผนที่จะเร่งการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และมองว่า แผนของทรัมป์สำหรับภาษี 25% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถือเป็นการขยายระยะเวลาผ่อนผันในการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ “เราจะเร่งการเจรจาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และคลี่คลายความไม่แน่นอนจากภาษีได้อย่างรวดเร็ว”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า จะไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เพิ่มอีก 10% ในทันที แต่จะดำเนินการหากประเทศเหล่านั้น ดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “ต่อต้านอเมริกา” ขณะที่ สหภาพยุโรปไม่ได้รับจดหมายที่ระบุการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะได้รับการยกเว้นจากภาษีพื้นฐาน 10% หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มส่งจดหมายแจ้งประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ซึ่งโฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า EU ยังคงตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้าภายในวันพุธ หลังจากที่ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีการ “พูดคุยที่ดี”
สหภาพยุโรปกำลังลังเลว่าจะผลักดันข้อตกลงการค้าที่รวดเร็วและไม่ซับซ้อน หรือจะใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อเจรจาผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยก่อนหน้านี้ EU ได้เลิกล้มความหวังที่จะได้ข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมก่อนกำหนดเส้นตายในเดือนก.ค.แล้ว
ที่มา: Reuters (1) (2) และ (3) , สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย