รัฐบาลอินเดีย คาดหวังว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โดยมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าที่สหรัฐฯ บรรลุกับอินโดนีเซียได้ ท่ามกลางความพยามเร่งเจรจาก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค.
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 19% ลดลงจากที่เคยระบุไว้ที่ 32% และสหรัฐฯ จะสามารถส่งสินค้าไปยังอินโดนีเซียได้โดยไม่มีภาษี ซึ่งทรัมป์ กล่าวว่า ข้อตกลงกับอินเดียจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันนั้น และเราจะสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียได้ พร้อมย้ำว่า สหรัฐฯ ใกล้มากที่จะบรรลุข้อตกลงกับอินเดีย

ด้านเจ้าหน้าที่อินเดียรายหนึ่ง กล่าวว่า อินเดียกำลังมองหาอัตราภาษีที่ดีกว่าอินโดนีเซียและอัตราภาษี 20% ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนาม โดยสหรัฐฯ และอินเดียกำลังดำเนินการ เพื่อบรรลุข้อตกลงที่จะลดภาษีลงต่ำกว่า 20% ซึ่งอินเดีย กำลังคาดหวังที่จะได้อัตราภาษีที่จะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และเชื่อว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มองอินเดียว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งเหมือนเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเจรจาจนถึงตอนนี้ บ่งชี้ว่า อัตราภาษีของอินเดียจะดีกว่าประเทศเหล่านั้น
Soumya Kanti Ghosh หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร State Bank of India และหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทีมเจรจาหวังที่จะลดภาษีลงต่ำกว่า 10% “ซึ่งในการเจรจาต่อรอง สหรัฐฯ น่าจะคาดหวังว่า อินเดียจะเปิดทางให้สินค้าของตนเข้าสู่ตลาดได้เป็นอย่างมาก ขณะที่ อินเดียไม่เต็มใจที่จะเปิดตลาดเกษตรและผลิตภัณฑ์นม แต่อาจเปิดตลาดในภาคส่วนที่ไม่ใช่เกษตรกรรม
อินเดีย ได้เสนอที่จะลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เป็นศูนย์ หากสหรัฐฯ ทำเช่นเดียวกัน อินเดียได้เสนอการเข้าถึงตลาดที่มากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐฯ บางชนิด และยังได้หยิบยกความเป็นไปได้ในการซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ทรัมป์ยังได้ประกาศข้อตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักรและเวียดนาม และการสงบศึกกับจีน โดยกล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียตกลงที่จะซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับเครื่องบินโบอิ้ง
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด แสดงให้เห็นว่า อัตราภาษีกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ระดับ 15%-20% ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์ ได้ระบุว่าเป็นระดับที่เขาต้องการ
ที่มา Bloomberg, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย