อังกฤษ-อินเดีย ลงนามข้อตกลง FTA ดีลใหญ่สุด หลัง Brexit เปิดทางลดหย่อนภาษี-อุปสรรคการค้าหลายรายการ

สหราชอาณาจักรและอินเดียลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ปูทางยกเลิกภาษีนำเข้า ครอบคลุมสินค้าหลายรายการ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังเจรจานานร่วม 3 ปี ท่ามกลางการค้าโลกที่ยังปั่นป่วนจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ข้อตกลงฉบับนี้เกิดขึ้น หลังการเจรจาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เป็นอุปสรรค อาทิ การออกวีซ่า การลดภาษีนำเข้า และการลดหย่อนภาษีอื่นๆ โดยสรุปผลการเจรจาไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค. และเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และยังเป็นดีลใหญ่สำหรับอินเดียในรอบ 10 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อินเดียยินดีที่จะลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อดึงดูดนักลงทุน ท่ามกลางการเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การทำข้อตกลงในการเจรจาการค้าระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรปที่ยังดำเนินอยู่
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สินค้าที่อังกฤษส่งออกไปยังอินเดีย ประมาณ 90% จะได้รับการลดหย่อนภาษี โดย 85% จะปลอดภาษีภายใน 10 ปี ขณะที่ อินเดียจะได้รับการลดภาษีนำเข้า ครอบคลุม 99 % ของสินค้าที่ส่งออกไปยังอังกฤษ ส่วนภาษีวิสกี้และเหล้าจินจะลดลงครึ่งหนึ่ง มาอยู่ที่ 75% ก่อนที่จะลงมาอยู่ที่ 40% ในปีที่ 10 ของข้อตกลง ส่วนภาษีอุตสาหกรรมยานยนต์จะลดลงเหลือ 10% (ตามจำนวนโควต้าส่งออก) จาก 110% ในช่วงเวลาดังกล่าว
สตาร์เมอร์ กล่าวว่า “ข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักร-อินเดียได้รับการลงนาม ประทับตรา และพร้อมดำเนินการแล้ว และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลแก่ทั้งสองประเทศ นำไปสู่การเพิ่มค่าแรง ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ และลดราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภค”
ด้านนายโมดี กล่าวว่า สินค้าของอินเดีย รวมถึงสิ่งทอ เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวกับข้องกับด้านวิศวกรรม จะสามารถเข้าถึงตลาดของสหราชอาณาจักรได้สะดวกขึ้น “ข้อตกลงนี้ไม่ใช่แค่การปูทางไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบที่จะนำพาความเจริญรุ่งเรืองของเราไปด้วยกัน”
ในฝั่งสหราชอาณาจักร คาดว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจในแต่ละปี ประมาณ 4,800 ล้านปอนด์ (6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ถือได้ว่า เป็นชัยชนะอย่างค่อยเป็นค่อยไปสำหรับรัฐบาลของนายสตาร์เมอร์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ซบเซา
ด้านประธานาธิบดีอทรัมป์อมีกำหนดเดินทางถึงเยือนสก็อตแลนด์เป็นการส่วนตัวในวันนี้ เพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขณะที่อรัฐบาลอินเดียก็กำลังเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก่อนเส้นตายวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งจะมีผลให้สินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีสูงขึ้น หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้
อนึ่ง พิธีลงนามข้อตกลงดังกล่าวจัดขึ้นใกล้กรุงลอนดอน และลงนามโดยนายโจนาธาน เรย์โนลด์ส (Jonathan Reynolds ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธุรกิจและการค้าของสหราชอาณาจักร และ นายไพยุช โกยาล (Piyush Goyal) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินเดีย โดยมีนางราเชล รีฟส์ (Rachel Reeves) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร รวมทั้งนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย พร้อมด้วยนายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรี อินเดีย และนายเคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) นายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักร ร่วมด้วย
ที่มา Bloomberg , สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย