By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
ในยุคนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนเรา เรียกได้ว่า ชีวิตของคนในยุคนี้ผูกพันกับเทคโนโลยีตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งเข้านอนในทุกวันเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ ต่างก็ต้องเผชิญความท้าทายที่เกิดขึ้น จากการเข้ามาของเทคโนโลยี มีทั้งผู้ที่ได้โอกาสและเสียโอกาสไป ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจจะปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยีได้รวดเร็วแค่ไหน
ทั้งนี้ World Economic Forum (WEF) ได้นำเสนอแนวโน้มเทคโนโลยีหลักๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการค้าของโลกเอาไว้ผ่าน www.weforum.org ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรพลาดที่จะมองหาโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ขณะที่คนทั่วๆ ไป ก็ต้องทำความรู้จักกับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้มากขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้จะมามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน
เทคโนโลยีที่ WEF มองไว้ มีด้วยกัน 5 รายการ ได้แก่
1.Blockchain – บล็อคเชน คือรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลแบบหนึ่งของระบบที่ไม่มีศูนย์กลางแต่เชื่อถือได้และยากแก่การปลอมแปลง ซึ่ง WEF มองว่า นี่จะเป็นเทคโนโลยีที่มีผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทานของการค้าโลกได้ โดยองค์กรการค้า เช่น หอการค้าและอุตสาหกรรมดูไบ ได้เปิดตัวแนวทางการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมาแก้ปัญหาในด้านการค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ต้นทุนสูง หรือการขาดความโปร่งใสและความปลอดภัย
นอกจากนี้บล็อคเชนยังสามารถใช้ในการเคลื่อนย้ายสินค้าให้มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้มากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนวิถีสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศด้วย อาทิ การใช้บล็อคเชนเพื่อลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของการออก Letter of Credit (L/C) ซึ่งเป็นเอกสารที่ผู้ซื้อสินค้าขอให้ธนาคารออกให้เพื่อยืนยันการชำระเงินให้กับผู้ขาย และเป็นรูปแบบการชำระเงินที่นิยมใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ
มีตัวอย่างของการนำบล็อคเชนมาใช้ในการออก L/C แล้ว นั่นก็คือ Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชี ได้ช่วยธนาคารพาณิชย์ในอินเดียปรับปรุงการออก L/C โดยนำนวัตกรรมบล็อคเชนมาใช้ลดระยะเวลาในการออกเอกสาร จาก 20-30 วัน ให้เหลือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอื่น คือ Skuchain ผู้พัฒนาบล็อคเชนสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ได้ลัดขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับ L/C ด้วยการพัฒนาการติดตามสินค้าแบบเรียลไทม์และบริหารสินค้าคงคลังเพื่อลดความเสี่ยงในขั้นตอนการทำธุรกรรม โดยการทำให้ผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถจัดหาเงินทุนให้กับผู้ให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดต้นทุนของเงินทุนที่ใช้ในห่วงโซ่อุปทานนี้
2.Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning – ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง สามารถนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือ จัดการการรับส่งข้อมูลด้านการจราจรทั้งทางเรือและรถบรรทุกที่ท่าเรือ ช่วยเหลือเรื่องการแปลเอกสารด้านอี-คอมเมิร์ซจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง และไม่เพียงแต่เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานเท่านั้น ยังนำมาช่วยด้านการบริการลูกค้าให้ดีขึ้นด้วย
AI นั้นสามารถนำมาช่วยให้การค้าขายโลกมีความยั่งยืนมากขึ้น เช่น Google ได้เปิดตัว Global Fishing Watch เมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นเครื่องมือแบบเรียลไทม์ที่ใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย รุกล้ำน่านน้ำ ผ่านการช่วยจับตาการเดินเรือ การทำประมงในเขตน่านน้ำต่างๆ ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถนำไปให้รัฐบาลและองค์กรใช้เพื่อระบุพฤติกรรมและพัฒนานโยบายที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้
3.บริการด้านการค้าบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม – ตัวอย่างที่มี คือ Upwork ผู้ให้บริการจัดหางานสำหรับฟรีแลนซ์ ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานค้นหาผู้ให้บริการจากทั่วโลกได้ในหลายๆ ด้าน เช่น หาผู้พัฒนาเว็บไซต์ได้ในเซอร์เบีย นักบัญชีในปากีสถาน และผู้ช่วยงานต่างพื้นที่
ขณะเดียวกันก็มีสตาร์ทอัพชื่อ VIPKID ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการเรียนรู้ระดับนานาชาติ จับคู่สถาบันการศึกษาอเมริกัน กับเด็กนักเรียนจีน ให้บริการด้านการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้เชื่อมต่อผู้บริโภคกับผู้ให้บริการแบบไร้รอยต่อ
4.เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ – เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีผลต่อการค้าโลก มีผลศึกษาที่คาดการณ์ว่า เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมีความรวดเร็วมากระดับหนึ่งและมีราคาถูกพอสมควร อนาคตการค้าโลกอาจลดลงถึง 25% เพราะใช้แรงงานน้อยลงและทำให้ความต้องการนำเข้าลดลงด้วย
5.การชำระเงินผ่านมือถือ – แอปเปิ้ล เพย์ ต่อด้วย อาลีเพย์ และเอ็ม-เปซา เป็นหนึ่งในตัวอย่างระบบการชำระเงินผ่านมือถือ ซึ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน สร้างโอกาสทางการตลาดในการเข้าถึงคนจำนวนมาก โดยจากฐานข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า จำนวนประชากรที่เข้าถึงการเปิดบัญชีธนาคารเพิ่มขึ้นเพียง 20% ระหว่างปี 2011 – 2014 ขณะที่บัญชีเงินบนมือถือเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนทำให้คนได้เข้าสู่ช่องทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ประเทศในแอฟริกาแถบทะเลทรายซาฮารา พบว่ามากถึง 12% ของประชากรวัยหนุ่มสาวซึ่งมี 64 ล้านคน มีบัญชีเงินบนมือถือ (เทียบกับทั่วโลกที่มีค่าเฉลี่ย 2%) โดย 45% ของคนกลุ่มนี้ มีเพียงบัญชีบนมือถือเท่านั้น ไม่ได้มีบัญชีธนาคารด้วย สิ่งนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่า เมื่อคนเชื่อมต่อการชำระเงินบนมือถือมากขึ้น ก็จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เชื่อมต่อกับการค้าขายในโลกง่ายขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้บริโภคหรือภาคธุรกิจก็ตาม
เมื่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีมากถึงเพียงนี้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นรวดเร็วมาก จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องพยายามเรียนรู้ไปกับเทคโนโลยี เพื่อให้เราเท่าทัน
เราผูกติดกับการใช้เทคโนโลยีได้แต่ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตและสิ่งแวดล้อม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีได้