By…พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
กองทุนบัวหลวง
ทุกวันนี้ เราได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อสังคมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น E-Sport, AR, VR, IoT, Silicon Photonics ไปจนถึง Quantum Computing ซึ่งอาจจะทำให้เราฟังแล้วเกิดความสับสนได้ไม่มากก็น้อย
เรากำลังอยู่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย เลิกใช้ในอีกไม่นานนัก ดังนั้น มนุษย์เราต้องรู้จักปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ เพื่อที่จะรู้ได้ว่า ธุรกิจไหนที่มีโอกาสของศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต เราต้องอ่านเกมให้ขาด “เพราะการลงทุน คือ การมองไปข้างหน้า”
นักธุรกิจจีนท่านหนึ่งเคยพูดกับผมไว้ว่า ความล้ำสมัยในยุคนี้มีคำจำกัดความสั้นๆ ง่ายๆ คือ ‘A B C D’ โดย A มาจาก Artificial Intelligence: AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ส่วน B คือ Blockchain (บล็อคเชน) ขณะที่ C คือ Cloud Computing (การประมวลผลบนคลาวด์) และ D มาจาก Data Analytic (การวิเคราะห์ข้อมูล) หากภาคธุรกิจสามารถดึงสิ่งที่ล้ำสมัยเหล่านี้ไปประยุกต์ ต่อยอด หรือสร้างสรรค์สิ่งที่ล้ำสมัยกว่าขึ้นมาแทนที่สิ่งเดิมๆ ได้ ก็ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจนั้นๆ แต่หากไม่รู้จักปรับตัวก็อาจจะถูกทำลาย หรือ ‘Disrupt’ ให้ล้มหายตายไปจากอุตสาหกรรมก็เป็นได้ ดังนั้น ผู้บริหารจัดการกองทุนเองก็มีหน้าที่ต้องไปเฟ้นหาธุรกิจล้ำสมัยเหล่านี้ เพื่อต่อยอดการลงทุน
ธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น นักลงทุนยอมจะซื้อหุ้นในขณะที่ยังไม่มีกำไร แต่การเติบโตของรายได้อยู่ในระดับสูงมาก หรือ ยอมซื้อหุ้นที่ P/E สูงมาก ด้วยความคาดหวังว่า เมื่อถึงผ่านจุดคุ้มทุน ธุรกิจเหล่านี้จะสามารถสร้างผลกำไรเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ในระยะเวลาสั้นๆ หุ้นที่เคยมี P/E สูงเป็นร้อยเท่า ก็จะลดลงมาเหลือไม่กี่สิบเท่าได้ในเวลาเพียง 2-3 ปี
อย่างไรก็ดี ในประเทศไทย หากจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ทันสมัยก็ยังพอจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มาก หากว่า เราจำกัดกรอบการลงทุนของตัวเองอยู่เพียงในประเทศ ก็จะพลาดโอกาสที่จะลงทุนในแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ได้ และยิ่งปัจจุบันนี้ การลงทุนในต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น เราจึงควรใช้โอกาสนี้ออกไปมองหาธุรกิจล้ำสมัยในต่างแดนบ้าง
ทว่า การลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตนั้น จะมีความแตกต่างจากการลงทุนในธุรกิจที่แข็งแกร่ง ด้วยความที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ นั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งด้านคู่แข่งใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ จึงจำเป็นที่ต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบด้านข้อมูลของการลงทุนในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลได้ลดลงมาก ระหว่างกองทุนขนาดใหญ่ กองทุนขนาดเล็ก หรือนักลงทุนทั่วไป เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว ง่ายดาย ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง เรียกได้ว่า เป็นยุคที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล
ความท้าทายก็คือ การวิเคราะห์และกลั่นกรองข้อมูลที่มีเข้ามามาก ให้ได้ข้อสรุปที่จำเป็นและมีน้ำหนักต่อการลงทุนจริงๆ การมีข้อมูลที่มากเกินไป ไม่ได้ชี้วัดว่า คุณจะได้เปรียบในการลงทุนเสมอไป สิ่งนี้เองนับเป็นภารกิจที่ยากขึ้นสำหรับผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์การลงทุน ผู้จัดการกองทุนในยุคนี้ จึงต้องทำงานหนัก อดทนกว่าเดิม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ค้นคว้าข้อมูลให้มากกว่าเดิม ซึ่งในประเด็นนี้ เทคโนโลยีอย่าง AI จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของคนเราได้ดี ข้อมูลที่ไหลทะลักเข้ามา ถ้าเราต้องอ่านทั้งหมดอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง เป็นวัน หรือสัปดาห์ แต่เมื่อมี AI เข้ามาก็อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระได้ จะเห็นว่า เทคโนโลยีนั้นมีส่วนทั้งในแง่ของการแสวงหาโอกาสการลงทุน และกระบวนการทำงานของผู้จัดการกองทุนไปด้วย
ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนต้องมีความเข้าใจในโครงสร้างธุรกิจแต่ละธุรกิจ จะต้องตีบทให้แตก รู้ว่า ธุรกิจไหนมีแนวโน้มการเติบโต มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเป็นอย่างไรในอนาคต รวมถึงยังต้องปรับตัวต่อแนวคิดและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อเอามาช่วยในการลงทุนด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องสะท้อนว่า โลกของเรายังมีอะไรที่ไม่แน่นอนอีกมากเกิดขึ้น ทั้งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ผู้เล่นในตลาดจึงต้องพร้อมปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก อย่างเข้าใจและเข้าถึง