ถ้าลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นพระราชา แล้วธุรกิจค้าปลีกจะดึงดูดให้ผู้บริโภคช้อปในห้างต่อไปอย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมไปช้อปออนไลน์
มี 2 ประเด็นใหญ่สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐว่า จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ประการแรก แทนที่จะตั้งรับ ผู้ค้าปลีกจะใช้เทคโนโลยีในการดึงดูดให้ผู้บริโภคช้อปทั้งออนไลน์ และช้อปในห้าง ประการที่สอง เรื่องความหลายหลากของเทคโนโลยีไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่ แต่จะทำอย่างไรที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกร่วมกับแบรนด์ หรือสินค้า
พฤติกรรมการช้อปของบริโภคได้เปลี่ยนไปจากการมาถึงของเทคโนโลยี ทำให้สามารถช้อปได้ทั้งออนไลน์และช้อปในห้างโดยตรง หลายคนกลัวว่า ผู้บริโภคจะหันไปช้อปออนไลน์กันหมด หลังจากได้เห็นปรากฎการณ์ของอี-คอมเมิร์ซอย่างบริษัทอเมซอนของสหรัฐ หรือบริษัทอาลีบาบาของจีน แต่การช้อปในห้างยังไม่ตายง่ายๆ
Euromonitor International รายงานว่า การซื้อสินค้า 83% ในโลกนี้ยังคงอยู่ในรูปออฟไลน์อยู่อย่างน้อยในปี 2022
ผู้ค้าปลีกของสหรัฐรวมตัวกันในนาม National Retail Federationได้มีการประชุมกันเพื่อสู้กับยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซอย่างอเมซอน อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว แทนที่จะนั่งรอวันเสื่อมสลาย หรือเกรงกลัวกับเทคโนโลยี ผู้ค้าปลีกหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอด มี 3 ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาถกเป็นยุทธศาสตร์ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงนักช้อปอย่างไรในปี2020
ประการแรก ราคาสินค้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกชั่วโมง การใช้เทคโนโลยีสามารถช่วยธุรกิจค้าปลีกปรับราคาสินค้า ลดแลกแจกแถมได้อย่างมีประสิทธิภาพรายสัปดาห์ รายวัน หรือรายชั่วโมง และผู้บริโภคก็สามารถปรับการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ตามอุปสงค์ และอุปทาน
ประการที่สอง ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสบการณ์จริงในการช้อป เริ่มมีการพัฒนาหลายแอพไม่ว่าจะเป็น ModiFace หรือ SenseMi เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปดูภาพสวยๆ วิดีโอดีๆ หรือข้อความที่น่าสนใจเพื่อช่วยสร้างอารมณ์หรือความรู้สึกต่อสินค้า ก่อนที่ผู้บริโภคจะจับจ่ายในการช้อปเลือกซื้อแบรนด์ หรือสินค้า
ประการที่สาม การใช้ระบบออโตเมชั่นในช่องจ่ายเงิน เพื่อลดพนักงานแคชเชียร์ เมื่อสินค้าทุกชิ้นมีบาร์โค้ด คนช้อปสามารถสแกนบาร์โค้ดเอาสินค้าใส่ถุงเอง แล้วจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ได้
จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขายหรือผู้ค้าปลีกโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม ผู้บริโภคเลือกได้ และผู้ขายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกในยุทธศาสตร์ของธุรกิจที่วางไว้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด