อี-คอมเมิร์ซ กับก้าวเดินที่ไปได้อีกไกล

อี-คอมเมิร์ซ กับก้าวเดินที่ไปได้อีกไกล

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การช้อปปิ้งเดี๋ยวนี้ทำได้ง่ายดายมากๆ ไม่ต้องเดินไปถึงหน้าร้านค้า แค่มีสมาร์ทโฟนก็กดเลือกช้อปและจ่ายสิ่งที่ใจนึกอยากได้ในเวลาแค่เสี้ยววินาที แล้วจากนั้นของก็พร้อมเดินมาส่งถึงที่แบบไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยหอบหิ้ว แม้ว่าคนในบางรุ่นอาจจะยังไม่ชินกับความสะดวกเหล่านี้ เพราะยังคุ้นเคยกับการช้อปปิ้งแบบเก่าๆ แต่ที่สุดแล้วนี่คือกระแสที่ต้องเดินไปในวันข้างหน้า

ในวันนี้เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวของอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจในกระแสปัจจุบันและมีอนาคตมาให้ได้รู้จักกัน โดยข้อมูลจากรายงาน World Consumer Rights Day Campaign Pack อธิบายว่า อี-คอมเมิร์ซ มีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ การค้าขายระหว่างภาคธุรกิจกับภาคธุรกิจ (B2B) การค้าขายระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) การค้าขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคด้วยกันเอง (C2C) ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า peer to peer (P2P)

ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการมาของอี-คอมเมิร์ซก็คือ จำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น โดยเมื่อปี 1995 ประชากรโลกที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังมีเพียงแค่ 1% เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นเกือบ 50% แล้วในปี 2017 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน อี-คอมเมิร์ซ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วไม่แตกต่าง โดยปี 2016 คาดการณ์ว่ามีคน 1,610 ล้านคนทั่วโลกที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ สร้างยอดขายทั่วโลกบนอี-คอมเมิร์ซ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่า การเติบโตนั้นจะกลายเป็น 4.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020

รายงานดังกล่าวยังระบุว่าจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการทำธุรกรรมผ่านมือถือมากขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,500 ล้านคนในปี 2019 จากปี 2016 ที่มีผู้ใช้งาน 2,100 ล้านคน  และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 36% จากตัวเลขคาดการณ์ในปี 2018

หากดูให้เจาะลึกลงไปอีก จะพบว่า 46% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิก และ 28% ของผู้ใช้งานในอเมริกาเหนือ จะซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ขณะที่ไตรมาาส 4 ปี 2016 หน้าจอคอมพิวเตอร์ยังเป็นช่องทางหลักในการรับคำสั่งซื้ออี-คอมเมิร์ซทั่วโลก แต่สมาร์ทโฟนเป็นช่องทางอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคจะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ค้าปลีก โดยผลสำรวจปี 2017 ระบุว่า 11% ของนักช้อปออนไลน์จะซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนทุกสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ตลาดอี-คอมเมิร์ซยังถูกครองส่วนแบ่งอยู่โดยบริษัทระดับโลกไม่กี่เจ้า โดยแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ที่ครองมูลค่าตลาดสูงๆ เอาไว้คือบริษัทจากสหรัฐ เช่น แอปเปิ้ล กูเกิ้ล อเมซอน และเฟซบุ๊ค ขณะที่บริษัทจีน เช่น อาลีบาบา เทนเซนต์ ไป่ตู้ และเจดีดอทคอม ก็กำลังก้าวเข้ามามีส่วนสำคัญจับส่วนแบ่งในตลาดนี้

 

จีนยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซ

ความสำเร็จของบริษัทจีนนั้น มาพร้อมๆ กับความล้มเหลวของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากสหรัฐที่หวังเข้าไปตีตลาดจีน โดยพบว่า อเมซอน มีส่วนแบ่งตลาดอี-คอมเมิร์ซในจีนแค่ 0.8% เท่านั้น ขณะที่อีเบย์ล้มเหลวถึงขั้นต้องยอมถอนตัวออกจากตลาดจีนไป ส่วนเพย์พาล ก็มีจำนวนธุรกรรมแค่ 0.0001% เท่านั้นของธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนอี-คอมเมิร์ซของจีน ทางด้านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และสแนปแชท ล้วนถูกแบนในจีน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคตลาดออนไลน์ของจีนมีขนาดใหญ่มากถึง 702 ล้านคนเมื่อปี 2016 เมื่อเทียบกับผู้บริโภคในสหรัฐที่มีแค่ 264 ล้านคน และยังมีผู้บริโภคจีนอีกถึง 676  ล้านคนที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อตลาดออนไลน์ เมื่อเทียบกับในสหรัฐที่มีคนยังอยู่แต่ในโลกปกติไม่เชื่อมต่อออนไลน์ 59 ล้านคน นี่จึงเป็นตลาดที่น่าจับตา เพราะจีนเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันตลาดอี-คอมเมิร์ซของโลกให้เติบโตได้อีกไกล

ทางด้าน Bloomberg Intelligence ได้ออกรายงาน Global Application Software 2018 Midyear Outlook ระบุถึงการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับ อี-คอมเมิร์ซ โดยสะท้อนว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น สังคมออนไลน์ รวมถึงช่องทางดิจิทัล ยังคงเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น สะท้อนได้จากส่วนแบ่งยอดขายค้าปลีกที่มาจากอี-คอมเมิร์ซที่ยังไม่สูงมาก คิดเป็นไม่ถึง 10% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็น 20-30% ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

แรงขับเคลื่อนสำคัญจะมาจากทั้งฝั่งผู้ประกอบการค้าปลีกที่ทำอี-คอมเมิร์ซเอง และบริษัทซอฟต์แวร์ ที่จัดทำซอฟต์แวร์ด้านดิจิทัลคอมเมิร์ซสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ และเทรนด์นี้จะสร้างการเติบโตให้กับผู้ที่อยู่ในวงจรธุรกิจนี้ถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนคลาวด์เป็นพื้นฐาน เช่น Shopify Oracle Salesforce.com และ SAP

นี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่สะท้อนว่า อี-คอมเมิร์ซ เพิ่งเริ่มก้าวเดิน ยังพร้อมจะวิ่งไปได้อีกไกล แต่จะไกลแค่ไหนในโลกยุคดิจิทัลนี้ก็สุดจะคาดการณ์ได้ ก็คงต้องถามใจคุณเองแล้ว