By… พิชญ ฉัตรพลรักษ์
Portfolio Management
สำหรับนักลงทุนที่คุ้นเคยกับการจัดสรรเงินลงทุนมาบ้างแล้วมักจะได้ยินคำว่า พอร์ตการลงทุนนั้นต้องมีการปรับสมดุลตามมาด้วย คำว่าสมดุลที่ว่านั้นหมายถึงสมดุลตามอัตราผลตอบแทนที่ต้องการหรือความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ การปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนมักจะเกิดขึ้นเมื่อสัดส่วนน้ำหนักของสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไว้มีความแตกต่างไปจากสัดส่วนการลงทุนระยะยาว (Strategic Asset Allocation) เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาสู่สมดุลตามรูปแบบเดิมที่กำหนด
ข้อดีของการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนได้แก่ การทำให้ความเสี่ยงจากเงินที่ลงทุนไว้ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป เช่น กรณีตลาดมีการปรับฐานลงอย่างรุนแรงจากวิกฤตการทางการเงิน จะทำให้มูลค่าของเงินที่ลงทุนไว้นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนก็คือการลดความผันผวนให้อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้นั่นเอง
ระยะเวลาที่นักลงทุนควรทำการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนได้แก่ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เช่น ทุกๆรอบ ไตรมาส ครึ่งปี หรือ รายปี แต่ไม่ควรถี่หรือบ่อยนักเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่อาจไม่คุ้มค่า หรือ เมื่อสัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไปจนแตกต่างจากเกณฑ์ที่กำหนด (Threshold) เช่น มากกว่าหรือน้อยกว่า 5%ทั้งนี้ระดับของสัดส่วนที่ตั้งไว้อย่างน้อยก็ต้องมากกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับสัดส่วนในแต่ละครั้ง และไม่ควรกำหนดให้กว้างเกินไป เนื่องจากจะทำให้ความผันผวนของพอร์ตการลงทุนสูงขึ้นจนคล้ายกับว่าไม่ได้ทำการปรับสมดุลเลย หรือ เมื่อนักลงทุนมีการยอมรับความเสี่ยงหรืออัตราผลตอบแทนเปลี่ยนไป เช่น อายุมากขึ้นและเริ่มรับความผันผวนได้น้อยลง หรือมีเป้าหมายการลงทุนเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ดีอัตราผลตอบแทนจากการไม่ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเลยมักจะให้ผลลัพธ์ที่สูงกว่า ถ้าหากสินทรัพย์เสี่ยงมีมูลค่าและสัดส่วนปรับขึ้นมามาก (พร้อมกับความผันผวนที่จะสูงกว่าตามมาด้วย) ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนพึงระลึกก่อนการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์นั้น หากนักลงทุนพิจารณาแล้วว่าสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนนั้นยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี สามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงหรือเพิ่มขึ้น รวมถึงมูลค่าหรือราคามีมีศักยภาพที่จะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต การปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นที่มีสัดส่วนหรือมูลค่าลดลงก็อาจยังไม่ควรทำ เหมือนคำกล่าวของ ผู้จัดการกองทุนรวมที่มีชื่อเสียง Peter Lynch เปรียบเปรยไว้ว่าเหมือนการ “ตัดดอกไม้และรดน้ำวัชพืช” แต่หากนักลงทุนไม่สามารถที่จะพิจารณาปัจจัยพื้นฐานหรือคาดการณ์อนาคตได้ การปฏิบัติตามเกณฑ์ของการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนตามที่กล่าวไว้ข้างต้นก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการบริหารเงิน