By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
ยานยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicles (AVs) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลกอนาคตไปได้อีกมาก และเทคโนโลยีนี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงภาพฝันสำหรับมนุษย์อีกต่อไป เมื่อมีบริษัทหลายรายได้พัฒนายานยนต์ไร้คนขับต้นแบบออกมากันอย่างต่อเนื่อง และมีการนำไปทดสอบวิ่งบนถนนจริงๆ แล้ว แต่คำถามก็คือในเชิงผู้บริโภคพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับกันแค่ไหนแล้ว
ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ได้ให้ทีมงานด้านยานยนต์ไร้คนขับและการเคลื่อนย้ายของเมือง ศึกษาเกี่ยวกับความหวัง ความกลัว เกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะทำกำไรได้ด้วยในอนาคต
จากการสำรวจผู้บริโภค 5,500 คน ใน 27 เมืองทั่วโลก พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่สนใจใช้ยานยนต์ไร้คนขับในอนาคต เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด และต้องการใช้เวลาที่อยู่บนรถให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ผลสำรวจชี้ว่า ประโยชน์สำคัญมากๆ ที่คนมองเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับก็คือ ไม่ต้องไปเสียเวลามองหาที่จอดรถ
เมื่อพิจารณาในประเด็นสัดส่วนของผู้คนที่ยอมรับยานยนต์ไร้คนขับ พบว่า ผู้บริโภค 60% ที่ตอบแบบสำรวจ ชื่นชอบและชื่นชอบมากๆ ที่จะขับขี่ยานยนต์ไร้คนขับ แต่ถ้าดูสัดส่วนการยอมรับแบบรายประเทศ พบว่า ญี่ปุ่น ยอมรับ 36% จีน 75% และอินเดีย 85%
สำหรับประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริโภคยอมรับยานยนต์ไร้คนขับน้อย เป็นผลมาจากมีวัฒนธรรมเรื่องการขับรถที่แข็งแกร่งอยู่แล้วมายาวนานกว่า 100 ปี ยากที่จะสละออกจากวัฒนธรรมเดิมๆ ขณะที่เมืองใหญ่ๆ ที่มีการยอมรับยานยนต์ไร้คนขับสูงนั้น ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว เช่น มุมไบ ปักกิ่ง ส่วนประเทศที่เป็นตลาดพัฒนาแล้ว อย่างโอซาก้า อัมสเตอร์ดัม จะยอมรับน้อยกว่า
สภาเศรษฐกิจโลก ยังได้ศึกษาลงลึกขึ้นไปอีก กับผู้บริโภคในเมืองบอสตัน โดยแบ่งตามรูปแบบยานยนต์ไร้คนขับหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถขนส่งมวลชน เช่น แท็กซี่ หรือ การขับขี่แบบแบ่งปัน เป็นการศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง 2,400 คน สิ่งที่พบคือ การมียานยนต์ไร้คนขับจะทำให้การวางแผนเดินทางของคนในเมืองเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน คนบอสตันเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น รถบัส รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน 35% รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งก็รวมถึงยานยนต์ไร้คนขับที่จะเข้าข่ายประเภทนี้ 58% และยานพาหนะขับเคลื่อนตามความต้องการ เช่น แท็กซี่ หรือระบบการขับขี่แบบแบ่งปัน 7%
อนาคต คาดว่าสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น รถบัส รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน จะลดลงเหลือ 32% การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ยานยนต์ไร้คนขับ จะลดเหลือ 38% และการเดินทางด้วยยานพาหนะขับเคลื่อนตามความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% โดยในทั้งหมดของยานยนต์ขับเคลื่อนตามความต้องการ ก็คือ ยานยนต์ไร้คนขับ 87%
หากพิจารณาเรื่องการยอมรับยานยนต์อัตโนมัติในมุมของอายุ สิ่งที่พบ ก็คือ คนสูงวัยจะยอมรับการใช้ยานยนต์ไร้คนขับน้อยกว่า เพราะไม่มีความอยากลองเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และมีความเชื่อมั่นในการขับโดยระบบอัตโนมัติน้อย ที่สำคัญเป็นเพราะวัยนี้มีอิสระเรื่องของเวลาในการขับรถ อีกทั้งมีรถเป็นของตัวเองอยู่แล้ว
ขณะที่ เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์และวาย ซึ่งเป็นคนวัยหนุ่มสาวเป็นกลุ่มที่พร้อมยอมรับ เพราะกลุ่มนี้สนใจการขับขี่เองน้อย ปัจจุบันกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่ใช้บริการยานยนต์แบบขับขี่ร่วมกัน แม้ว่าจะมีต้นทุนสูงกว่าการใช้ระบบขนส่งมวลชนก็ตาม
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของความพร้อมผู้บริโภคในการตั้งรับกับยานยนต์ไร้คนขับ ที่เริ่มมาแล้ว และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีขั้นกว่าขึ้นไปอีกมาให้เราได้เห็นในเร็ววันนี้