โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
ปัจจุบันเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เอกชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ จะทำธุรกิจก็สามารถระดมทุนได้จากญาติสนิทมิตรสหายโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ถ้าระดมทุนจากประชาชนก็อยู่ในรูปบริษัทมหาชน จึงจำเป็นต้องมีเอกสารให้ผู้ลงทุนถือเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ หรือเรียกว่าตราสารทุนนั่นเอง
ผู้ถือครองเอกสารที่เรียกว่าตราสารทุนจึงมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการ มีสิทธิในทรัพย์สินของกิจการร่วมกัน ถ้ากิจการทำธุรกิจจนมีรายได้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเป็นกำไร ก็แบ่งปันกันในหมู่ผู้ถือหุ้น แต่หากบริษัทไปก่อหนี้สินก็เป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้ร่วมกัน
นอกจากสิทธิที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการแบ่งปันกำไรหรือที่เรียกกันว่าเงินปันผลแล้ว ในกรณีที่บริษัทต้องการเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการอาจให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมได้มีโอกาสลงทุนเพิ่มโดยซื้อหุ้นเพิ่มทุน ก่อนเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมาลงทุนกับบริษัท
ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของมีสิทธิ ย่อมมีเสียงในการตัดสินใจกำหนดทิศทางการบริหารกิจการ ใครมีสิทธิมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ถือครอง ถ้าให้ผู้ถือหุ้นทุกคนขึ้นมานั่งบริหารงานทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือใช้สิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและลงมติในวาระสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจได้ คนที่ถือหุ้นจำนวนมากก็มีสิทธิออกเสียงมาก โดยสามารถลงคะแนนเสียงให้ตัวเองเป็นกรรมการหรือผู้บริหารที่มีอำนาจจัดการบริษัท
นอกจากสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ผู้ถือหุ้นที่ต้องการใช้เงินหรือถอนการลงทุนสามารถขายหุ้นที่มีอยู่ให้กับผู้อื่นที่สนใจลงทุนในบริษัทแทน โดยซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมาอีกมากมายและเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากหลากหลายอาชีพ