กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF)

เหตุที่หุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ขึ้นมา New high

บริษัทในกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์สบช่องหาจังหวะควบรวมกิจการเพื่อรวมศักยภาพด้านงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่อุบัติขึ้นใหม่ในโลก เช่น ยีนเทอราพี (Gene Therapy) และยาชีววัตถุคล้ายคลึง(Biosimilars)ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแสวงหาโอกาสเติบโตของกิจการ

กระแสของการควบรวมกิจการ (M&A) กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักกับหุ้นของบริษัทในกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ เพราะบริษัทเหล่านี้ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อความอยู่รอดของกิจการ หลังผู้จ่ายเงิน (ได้แก่ บริษัทประกันสุขภาพ นายจ้าง และผู้บริโภค) กดดันบริษัทผู้ผลิตยา บริษัทผู้ขายสินค้าการแพทย์ เพื่อสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย ในเวลาเดียวกันกับนักลงทุนซึ่งชื่นชอบธุรกิจในหุ้นกลุ่มนี้ก็พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจเนื่องจากมีประวัติผลตอบแทนดีเยี่ยม จากสาเหตุข้างต้นเราจึงเห็นบริษัทในกลุ่มเฮลธ์แคร์พยายามใช้เครื่องมือ M&A ต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดทั้งทางด้านมูลค่าและดีลควบรวม โดยมีเหตุปัจจัย 4 อย่าง ซึ่ง ได้แก่

  • ต้องการดำรงความเป็นผู้นำ รักษาส่วนแบ่งตลาด ด้านการรักษาโรค
  • ต้องการใช้ประโยชน์งานวิจัยและพัฒนาที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ยีนเทอราพีและยาชีววัตถุคล้ายคลึง
  • ซื้อบริษัท IT ที่ทำเฮลธ์แคร์เพื่อช่วยลดต้นทุน
  • แสวงหาธุรกิจย่อยที่สร้างกำไร

สรุปภาวะตลาดหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ในไตรมาส 2Q2018

ไตรมาส 2Q หุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์แทบจะไม่ตกเป็นข่าวเกี่ยวเนื่องกับกระแสการเมืองหรือนโยบายรัฐเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากถูกกระแสข่าวอื่นกลบ อาทิ การค้าสหรัฐฯ-จีน การรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้งานของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดีย ความผันผวนที่เกิดกับหุ้นในตลาดเกิดใหม่ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทรงตัวถึงเพิ่มสูงขึ้น ระดับดัชนีราคา MSCI World Healthcare ในเดือน ก.ค. 2018 จึงขยับใกล้จุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้ในช่วงต้นปีในเดือน ม.ค. และหากมองย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯเมื่อปี 2016 ถึงเดือน ก.ค. 2018 ดัชนีราคา MSCI World Healthcare ปรับขึ้นมาแล้ว 20% ระดับราคาหุ้น (Valuation) เมื่อพิจารณาจาก Forward PE ที่ 17.1 x ขยับเข้าใกล้จุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้ในเดือนม.ค. 2018 ที่ 17.8 x ท่ามกลางกำไรสุทธิที่คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 18-20% ต่อปีในปีนี้

มุมมองต่อประเด็นด้านราคายา (Drug Pricing)

  • ผู้จัดการกองทุน Wellington Global HC เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านราคายาอย่างเป็นรูปธรรมไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ยังมีความเสี่ยงต้องพึงระวังเนื่องจากยังมีความพยายามเปลี่ยนแปลงแผนประกันสุขภาพสหรัฐฯ แบบเดิม (Affordable Care Act) หรือโอบามาแคร์ ทั้งนี้ไม่ว่าการปรับแผนจะออกมาอย่างไร ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในแผนประกันสุขภาพมาก่อนนานหลายปีจะยังคงได้รับสิทธิในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอยู่ดี
  • กองทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อกรรมาธิการคนใหม่ขององค์กรอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ชื่อนาย Scott Gottlieb ที่มีคำพูดในโทนที่สนับสนุนบริษัทและโครงการด้านนวัตกรรม
  • การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนกองทุนหลักเน้นบริษัทที่ทำธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการรักษาโรคร้ายแรงและธุรกิจที่มีทางออกสำหรับการให้บริการทางสาธารณสุขที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
  • ในระยะยาว แรงหนุนด้านนวัตกรรม การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ประชากรสูงวัย อุปสงค์ต่อยาและเครื่องมือการแพทย์อันทันสมัยจากชาติตะวันตก ยังเป็นตัวขับเคลื่อนอัตราการเติบโตให้กับธุรกิจในกลุ่มนี้ กองทุนหลักได้วางพอร์ตการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่สอดคล้องกับการแรงหนุนนี้ไว้แล้ว

ที่มา: Wellington Management, 3Q2018

อัพเดทความเคลื่อนไหวทางด้านนวัตกรรมชีวเภสัชกรรม

เมกะเทรนด์ของนวัตกรรมชีวเภสัชกรรมยังคงแข็งแกร่งมาก ความคืบหน้าการแพทย์ด้านอิมมูโนออนโคโลจี (Immuno-Oncology) และยารักษามะเร็งแบบพุ่งเป้า ได้พัฒนาขึ้นต่อไปอีก หลังจากการประชุมของ American Association for Cancer Research (AACR) และ American Society for Clinical Oncology (ASCO) ในเดือน มิ.ย. พบว่างานวิจัยทางการแพทย์สาขาการบำบัดด้วยยีน (Gene Therapy) ได้รับชัยชนะเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากปรากฎข้อมูลใหม่สำหรับโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดผ่านทางกระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการขนส่งออกซิเจนเมื่ออยู่ในที่สูงบนภูเขา และโรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (Duchenne mascular dystrophy) ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งไม่ได้พบบ่อยนัก

ทรัมป์มีมาตรการอะไรกดดันต่อบริษัทผู้ผลิตยา (Drug Pricing) เพื่อให้ได้ราคายาที่ถูกลง

บันทึกพิมพ์เขียวของทีมบริหารประธานาธิบดีทรัมป์ในวันที่ 11 พ.ค. 2018 ได้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการลดราคายา ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง พิมพ์เขียวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทีมบริหารของทรัมป์จะกำหนดนโยบายด้วยความระมัดระวัง อีกทั้งแสดงออกให้เห็นต่อความมุ่งมั่นในการควบคุมราคายาผ่านการปฏิรูป 4 ส่วน ซึ่งได้แก่ การเพิ่มการแข่งขันในกลุ่มยาทั่วไป (Generic Drug) การต่อรอง การเพิ่มแรงจูงใจในการทำให้ยาถูกลง การตรวจสอบเพื่อเพิ่มความโปร่งใส และการออกมาตรการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง

การปฏิรูปข้างต้นสนับสนุนตลาดเฮลธ์แคร์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมซึ่งจะเข้ามาแทนที่ตัวยาแบบเก่า ขณะที่ผลลัพธ์เชิงคุณภาพที่ได้รับจากการรักษาจะอยู่เหนือการให้บริการแบบเก่าที่เน้นเฉพาะปริมาณการใช้ยา/และจำนวนเข้ารับการรักษาต่อครั้ง

เฮลธ์แคร์ในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

ค่าใช้จ่ายด้านเฮลธ์แคร์ในจีนและตลาดเกิดใหม่เติบโตขึ้นเร็วกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ด้วยแรงส่งของโครงสร้างประชากรและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสุขภาพของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูง การเข้าสูงสังคมเมือง การเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต และการที่รัฐบาลจีนปฏิรูปทางด้านเฮลธ์แคร์เพื่อให้คนเข้าถึงเฮลธ์แคร์เพิ่มด้วยการสร้างโรงพยาบาลให้ทันสมัย แผนประกันสุขภาพ และการเบิกค่าใช้จ่ายยานั้นเพื่อรองรับระบบประกันสุขภาพในระยะแรก สำหรับประเทศอื่นๆในเอเชียก็มีแนวโน้มเดียวกันคือเรื่องของโครงสร้างประชากร โดยอินโดนีเซียเริ่มมีระบบประกันสุขภาพขึ้นได้สองสามปีก่อน ขณะที่อินเดียกำลังอยู่ในช่วงร่างระบบ

กองทุนหลักถือหุ้นเฮลธ์แคร์จีน ประมาณ 2.5% ของพอร์ต อาทิ บริษัท Beigene และ Hutchison China ซึ่งได้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นบนแผ่นดินจีนจากความคิดริเริ่มระดับชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาชีวเภสัชกรรมหรือที่เรียกว่ายาไบโอเทค โดยมีองค์กรอาหารและยา (FDA) คอยกำกับดูแลยาที่อยู่ใน Pipeline เช่นเดียวกันกับของสหรัฐฯ ยาไบโอเทคดังกล่าว ได้แก่ ยารักษาโรคตับ หัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ในจีน

อุปสงค์ด้านเครื่องมือการแพทย์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ทางเลือกในการลงทุนผ่านบริษัทในประเทศมีน้อยเนื่องจากประเทศกลุ่ม EM นำเข้านวัตกรรมเครื่องมือจากต่างประเทศเป็นหลัก บริษัทที่กองทุนหลักลงทุน ได้แก่ Abbott, Medtronic และ Bostoc Scientific ซึ่งมี Exposure ในจีน

สรุปผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก Wellington Global Healthcare Equity Portfolio 2Q2018

กองทุนหลัก Wellington Global Healthcare สร้างผลตอบแทนในไตรมาสสอง 2.7% (เทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน MSCI World Health Care Net 2.8%) Sub-Sector ที่เป็น Medical Technology ของพอร์ตกองทุนหลักมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ Special Pharmaceutical and Biotechnology มีสัดส่วนลดลง ปัจจุบันพอร์ตลงทุนหลักลงทุนใน 132 บริษัททั่วโลก แบ่งเป็น Sub-sector กลุ่มย่อยดังนี้

  1. Major Pharmaceutical สัดส่วน 14.27%

อาทิบริษัท Bristol Myer Squibb สัดส่วน 3.44%, บริษัท AstraZeneca PLC สัดส่วน 2.64%

  1. Special Pharmaceutical and Biotechnology สัดส่วน 25.52%

อาทิบริษัท Alkermes สัดส่วน 1.83%, บริษัท Alnylam Pharmaceutic สัดส่วน 1.92%

  1. Medical Technology สัดส่วน 16.01%

อาทิบริษัท Boston Scientific สัดส่น 3.46%, บริษัท Becton Dickinson สัดส่วน 1.68%

  1. Health service สัดส่วน 19.61%

อาทิบริษัท HCA Holding Inc สัดส่วน 1.20%, UnitedHealth Group สัดส่วน 4.43%

  1. Non-Classified ซึ่งเป็นนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ขั้นสูง, การบำบัด, อายุรเวท สัดส่วน 26.43%

อาทิบริษัท Agios Pharmaceutical สัดส่วน 1.18%

Positive Contributor

หุ้น Top-3 ในพอร์ตลงทุนที่ Outperform (Largest Positive Contributor) ใน 2Q18 ได้แก่

  1. UnitedHealth Group (Healthcare Service, น้ำหนักลงทุน 3%) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 15.0%
  2. Boston Scientific (Medical Technology, น้ำหนักลงทุน 4%) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 19.7%
  3. Loxo Oncology (Biopharma Mid Cap, น้ำหนักลงทุน 3%) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 50.5%

Negative Contributor

หุ้น Top-3 ในพอร์ตลงทุนที่ Underperform ใน 2Q 2018 ได้แก่

  1. Alkermes (Biopharma Mid Cap, น้ำหนักลงทุน 8%) ราคาหุ้นลดลง -28.7%
  2. Nextar Therapeutics (Biopharma Mid Cap, น้ำหนักลงทุน 8%) ราคาหุ้นลดลง -48.2%
  3. Bristol-Myers Squibb(Biopharma Large Cap, น้ำหนักลงทุน 4%) ราคาหุ้นลดลง -11.6%

กลยุทธ์ของ Wellington Global Health Care Equity Portfolio

เน้นการเติบโตของเงินลงทุนผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านเฮลธ์แคร์ ด้วยการลงทุนที่หลากหลายทั้งในธุรกิจย่อย (Sub-Sector) มูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ลงทุน และภูมิภาคต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ: Wellington Global Health Care Equity Portfolio ชนิดหน่วยลงทุน Class S (Accum-USD)

วัตถุประสงค์การลงทุน: แสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทั่วโลก

Investment style:

  • คัดสรรหุ้นรายตัวแบบ Bottom up ด้วยปัจจัยพื้นฐาน
  • เน้นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการแข็งแกร่ง

วันจดทะเบียน: October 2003

ประเทศที่จดทะเบียน: ไอร์แลนด์

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI World Healthcare Net

Morningstar Category: Large cap growth

Bloomberg (A): WGHCEPA ID

Fund Size: USD 2.1 billion

NAV: USD 56.46

Number of holdings: 132