ส่งออกไทยเดือนก.ค. โตที่ 8.27% YoY ขาดดุลสุทธิในรอบสองเดือน

ส่งออกไทยเดือนก.ค. โตที่ 8.27% YoY ขาดดุลสุทธิในรอบสองเดือน

BF Economic Research

การส่งออกไทยเดือนก.ค.อยู่ที่ 20,424 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัว 8.3% YoY (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 21,779.8 ล้านดอลลาร์ฯหรือขยายตัว 8.19% YoY) ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 20,940 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัว 10.5%YoY (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 20,201.4 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวที่ 10.8% YoY) ส่งผลให้ขาดดุลการค้า -516 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุล 1,578.5 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้าและเป็นการขาดดุลในรอบ 2 เดือน

สำหรับ ภาพรวม 7 เดือนของปี 2018 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 146,236 ล้านดอลลาร์ฯ (เพิ่มขึ้น 10.6% AoA) การนำเข้ามีมูลค่า 143,296 ล้านดอลลาร์ฯ (เพิ่มขึ้น 14.8% AoA) และการค้าเกินดุล 2,939 ล้านดอลลาร์ฯ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.2% YoY โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี ได้แก่

  • น้ำตาลทราย ขยายตัวสูงที่ 41.0% YoY (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม )
  • ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 14.1% YoY (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้)
  • ทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 21.3% YoY (ขยายตัวในตลาดอียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอิสราเอล)
  • เครื่องดื่ม ขยายตัว 14.2% YoY (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา ลาว จีน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย)

สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  • กุ้งสดแช่แข็ง และแปรรูป หดตัว -32.1% YoY
  • ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัว -8.8% YoY
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว -16.1% YoY
  • ยางพารา หดตัว -6.0% YoY โดยเป็นผลทางด้านราคา แต่ปริมาณการส่งออกยังขยายตัว
  • ข้าว หดตัว -4.9%YoY จากปัจจัยด้านปริมาณเป็นหลัก (หดตัวในตลาดเบนิน จีน โกตดิวัวร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และแคนาดา แต่ยังขยายตัวใน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)

ภาพรวม 7 เดือนแรกของปีกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.9% AoA

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 7.7% YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่

  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว 36.6% YoY (ขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย)
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ 11.2% YoY (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก มาเลเซียและเวียดนาม)
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 11.1% YoY (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี)

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร หดตัวที่ -19.5% YoY (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา และเกาหลีใต้)
  • ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หดตัวที่ -18.7% YoY
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว -13.6% YoY (หดตัวในตลาดฮ่องกง สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวในตลาดแคนาดา ญี่ปุ่น และเยอรมนี)
  • เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ -9.2% YoY (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย และเยอรมนี)

ภาพรวม 7 เดือนแรกของปีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 10.9% YoY

ตลาดส่งออกสำคัญ

  • การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ยังขยายตัวดี โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 5.4% YoY ญี่ปุ่น (11.7% YoY) และสหภาพยุโรป (9.0% YoY) แต่การส่งออกไปสหรัฐฯ หดตัว -1.9% YoY
  • การส่งออกไปตลาดศักยภาพขยายตัวในอัตราสูงที่ 15.3% YoY ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ขยายตัวในระดับ 2 หลัก โดยเฉพาะการส่งออกอินเดีย (15.0% YoY) อาเซียน 5 (26.6%YoY) และ CLMV ขยายตัว 22.6% YoY ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนขยายตัวชะลอลงที่ 3.5% YoY

กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าการส่งออกในปี 2018 จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8%