สิทธิควรรู้ของคุณแม่มือใหม่
โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
คุณแม่มือใหม่ ได้รับสิทธิประโยชน์หลายทาง ซึ่งควรตรวจสอบสิทธิ และใช้สิทธิที่ตนมีให้ครบเพื่อความครอบคลุม และไม่เป็นการเสียสิทธิ ซึ่งสิทธิที่ได้รับจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อยคุณแม่มือใหม่ ได้รับสิทธิประโยชน์หลายทาง ซึ่งควรตรวจสอบสิทธิ และใช้สิทธิที่ตนมีให้ครบเพื่อความครอบคลุม และไม่เป็นการเสียสิทธิ ซึ่งสิทธิที่ได้รับจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย
หากคุณแม่เป็นพนักงานบริษัท สิทธิแรกที่พึงได้รับคือสิทธิประกันสังคมตาม มาตรา 33 โดยคุณแม่สามารถเช็คสิทธิได้เลยว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า มีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร หรือไม่ ถ้าใช่คุณก็จะได้รับสิทธินั้นในทันที โดยประกันสังคมจะจ่ายค่าคลอดในอัตราเหมาให้กับเรา (ผู้ประกันตน) ในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง
นอกจากนี้ยังได้รับเงินสงเคราะห์จากการหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างตามจริงสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (ยกตัวอย่างเงินเดือน 15,000 บาท เท่ากับได้เดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 22,500 บาท) ในกรณีมีบุตรมากกว่า 1 คน เช่น ปีนี้มีบุตรคนที่ 2 พนักงานบริษัท ยังได้รับสิทธิประกันสังคมเหมือนเดิม แต่ถ้าหากมีคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่าย (เดือนละ 7,500 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ) เพราะจ่ายเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้รับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร จากประกันสังคม โดยจะได้รับเดือนละ 600 บาทต่อบุตร 1 คน โดยสิทธินี้จะได้รับตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ ไม่เกิน 3 คน (ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น) ซึ่งสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรจะได้รับโดยมีเงื่อนไขว่ามีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
ขณะที่ล่าสุดปี 2561 นี้ มีข่าวดีเพิ่มเติม คือ ประกันสังคมเพิ่มเงินค่าฝากครรภ์ให้ 1,000 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดยแบ่งจ่ายตามอายุครรภ์
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
ทั้งนี้ ต้องมีหลักฐานการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ ตามอายุครรภ์ที่กำหนด เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติม โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร
มาต่อกันที่สิทธิประโยชน์ทางภาษี คุณแม่จะได้รับสิทธิอย่างไรกันบ้าง
ในส่วนของสิทธิลดหย่อนภาษีลูก ก็ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้อีก 30,000 บาท (คุณพ่อลดได้ 30,000 บาท คุณแม่ลดได้ 30,000 บาท) โดยต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคุณแม่จะได้สิทธิตามชอบด้วยกฎหมายโดยอัตโนมัติ (จดทะเบียนสมรส หากไม่ได้จด คุณพ่อต้องจดทะเบียนรับรองบุตร) การลดหย่อน จะไม่จำกัดจำนวนบุตร หากเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมาย แต่หากมีบุตรบุญธรรมมารวมด้วยจะสามารถใช้สิทธิได้ไม่เกิน 3 คนเท่านั้น
ทั้งนี้บุตรที่สามารถลดหย่อนได้ จะต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา และบุตรต้องไม่มีเงินได้เกิน 30,000 บาท
นอกจากนี้ หากตัดสินใจมีลูกคนที่สอง ยังได้สิทธิภาษีสำหรับบุตรคนที่ 2 เพิ่มเติมอีกด้วย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 คือคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในปีนี้ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝากท้องและคลอดมาลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท ยกเว้นผู้ที่มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์หรือคลอดบุตรจากแหล่งอื่นๆ แล้ว
สำหรับ ค่าใช้จ่ายนี้ หากคลอดในปี 2562 ก็ไม่ต้องเป็นกังวล สามารถแบ่งเบิกตามจริงเพื่อลดหย่อนในปีนั้นโดยรวมกันแล้วไม่เกิน 60,000 บาท เช่นปี 2561 มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น 40,000 บาท ก็ใช้สิทธิ 40,000 บาท ปี 2562 มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริงอีก 30,000 บาท ก็สามารถใช้ได้อีก 20,000 บาท (รวมเป็น 60,000 บาท)
สุดท้าย สิทธิใกล้ๆ ตัวที่เราไม่ควรพลาด นั่นคือสิทธิในฐานะลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างจะต้องให้สิทธิเราลาคลอดได้ 90 วัน ตามกฎหมายแรงงาน และจะต้องจ่ายเงินเดือนให้เราในอัตรา 50% ของค่าจ้างเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันด้วย อย่างเช่น เราได้เงินเดือน เดือนละ 40,000 บาท ในช่วง 90 วันที่ลาคลอดจะได้รับเพียง 50% ของเงินเดือน หรือเท่ากับ 20,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน คือ 60,000 บาท หรือได้รับ 40,000 บาทเต็มจำนวนในเดือนแรก และ 20,000 บาทในเดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3 จะไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งจะเป็นการเตือนเราว่า หมดเวลา ลาคลอดต้องรีบกลับมาทำงานหาเงินเพื่อครอบครัวได้แล้ว