By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนที่มีทุนหนาเริ่มสนใจการเข้าไปลงทุนในบริษัทเกิดใหม่บนพื้นฐานเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า สตาร์ทอัพ กันมากขึ้น หลังเริ่มเห็นผู้ที่ไปลงทุนมาก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จ ได้กำไรงามๆ จากการลงทุน
ทว่าในโลกแห่งความจริงแล้วการลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ได้ผลตอบแทนสวยหรูเสมอไป เพราะหากเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่ไม่ใช่ ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ ก็ต้องทำใจยอมรับว่าอาจสูญเงินก้อนนั้นไปเปล่าๆ ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนคิดจะก้าวเข้าสู่วงการลงทุนในสตาร์ทอัพ
เมื่อไม่นานมานี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (LiVE) จัดงาน “Angel Investing Day โอกาสใหม่ของผู้ลงทุน สนับสนุน Startup ให้เติบโต” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการและวิธีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่าน “LiVE Platform” ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หวังใช้เป็นกลไกสนับสนุนทุนให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพและวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยในงานนี้ได้นำผู้ที่เคยลงทุนในสตาร์ทอัพแล้วประสบความสำเร็จมาให้แนวคิดที่น่าสนใจด้วย
หนึ่งในนั้นก็คือ คุณภาวุธ พงศ์วิทยภานุ CEO and Founder, TARAD.com ที่ได้มาเผยเคล็ดลับที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรงในการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย
- ควรลงทุนในธุรกิจที่เรารู้และเข้าใจ เพราะเราจะมองเห็นและสามารถทำได้ดี
- หากจะลงทุนในสตาร์ทอัพหลายบริษัทก็ควรจะลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจได้
- แม้การลงทุนในขั้นเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ หรือ early stage จะใช้เงินลงทุนน้อย แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงมาก
- ควรกระจายพอร์ตการลงทุนในธุรกิจหลายๆ ขั้นธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขั้นเพิ่งเริ่มต้น แต่อาจจะลงในขั้นทำธุรกิจไปแล้วระดับหนึ่ง หรือระดับที่ไกลกว่านั้นด้วย
- ไม่ใช่เพียงเข้าไปลงทุน แต่ควรช่วยเป็นเมนเทอร์ ให้คำแนะนำด้วย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
- ควรลงทุนอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพเพื่อกระจายความเสี่ยง
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ที่คุณภาวุธ ระบุไว้ ก็คือ สตาร์ทอัพนั้นเป็นธุรกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยี ดังนั้นจึงมีจุดเด่น ก็คือ หากทำในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ โอกาสที่จะขยายไปยังประเทศอื่นแล้วประสบความสำเร็จก็ไม่ยากนัก
ขณะที่ คุณพจน์ สุพรหมจักร Investment Manager, N-Vest Venture ก็ได้มาให้เคล็ดลับของตัวเองไว้ในงานเดียวกันว่า สิ่งแรกก็คือก่อนจะลงทุนควรดูผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีลักษณะเข้ากันกับตัวของผู้ลงทุนได้ แล้วกับมาดูว่าเราเชื่อมั่นในตัวผู้ร่วมก่อตั้งแค่ไหนก่อน จากนั้นจึงพิจารณาเรื่องการลงทุนโดยเน้นในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจ เพราะต้องยอมรับว่า ผู้ที่ทำสตาร์ทอัพมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือ เป็นบุคลากรที่ขายเก่งมาก ดังนั้นหากเราเข้าใจก็จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเข้าใจธุรกิจและตลาดของสตาร์ทอัพนั้นได้อย่างลึกซึ้งขึ้น
นอกจากนี้ หากเข้าไปลงทุนแล้ว เป็นนักลงทุนที่ทราบว่าระบบหลังบ้านควรจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรจะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำกับสตาร์ทอัพ เพราะสตาร์ทอัพอาจจะเก่งในเรื่องเทคโนโลยี แต่ในด้านการจัดการหลังบ้านหลายๆ อย่างอาจจะไม่ชำนาญ
สิ่งที่เหลือที่ควรรู้ก็คือ เวลาเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพขั้นต้น หากเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงินไม่มาก อย่าไปตั้งมูลค่าของสตาร์ทอัพสูงจนเกินไป เพราะเมื่อไปถึงการลงทุนขั้นต่อไป ที่บริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) จะเข้ามาลงทุนแล้ว VC อาจจะไม่สนใจลงทุนในรอบต่อไป เนื่องจากมูลค่าบริษัทสูงเกินจริง
เหล่านี้คือเคล็ดลับเบื้องต้นที่เหล่านักลงทุนในสตาร์ทอัพฝากข้อคิดเอาไว้ อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ผู้สนใจจะลงทุนต้องระลึกไว้เสมอก็คือไม่ใช่สตาร์ทอัพทุกรายที่จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า กว่า 90% ล้มเหลว มีเพียง 10% ของสตาร์ทอัพเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นควรจะกลับไปถามใจตัวเองให้ดีว่า พร้อมที่จะเสี่ยงแค่ไหน มีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่สตาร์ทอัพทำเพียงพอหรือยัง