สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 83.2 เพิ่มจาก 82.2 ในเดือน ก.ค. โดยความเชื่อมั่นดีขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 69.1 ในเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 78.3 เพิ่มจาก 77.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 101.2 เพิ่มจาก 100.2
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น มีปัจจัยบวกจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เติบโต 4.6% พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีทั้งปีนี้ไว้ที่ 4.5% ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% การส่งออกเดือน ก.ค. ยังขยายตัวดี เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มดีขึ้น
สำหรับ ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม และความกังวลปัญหาสงครามการค้า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือน ส.ค.ปรับตัวดีขึ้น เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากลดลงชั่วคราว 3 เดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่กลับมาสู่ระดับ 100 อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดรอบ 64 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้น และหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 4.5%