กองทุนบัวหลวงทศพล กับกลยุทธ์โฟกัสหุ้นคุณภาพ เน้น เน้น
โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
กองทุนบัวหลวงทศพล เป็นกองทุนตราสารทุนหรือกองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีนโยบายการลงทุนแบบ Focus เน้นการลงทุนในหุ้นเฉพาะกลุ่มหรือประเภท โดยกองทุนทศพลจะลงทุนในหุ้นประมาณ 10 ตัว ซึ่งเป็นหุ้นที่คาดหวังผลตอบแทนที่ดีสุด 10 อันดับแรก จึงมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหุ้นจำนวนมากกว่า
กองทุนนี้จึงมีความผันผวนสูงโดยธรรมชาติ เพราะการแกว่งตัวของหุ้นแต่ละตัวจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าพอร์ตมากกว่ากองทุนอื่น
ปัจจัยกำหนดความสำเร็จของกองทุนนี้จึงอยู่ที่การคัดเลือกหุ้น (Stock selection) ซึ่ง บลจ.บัวหลวงมีแนวทางในการคัดเลือกหุ้นด้วยวิธี Top down และ Bottom up
Top down หรือ การมองจากบนลงสู่ล่าง เป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจจากระดับมหภาคหรือภาพใหญ่ลงมาสู่ระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ โดยจะกำหนด Investment Theme ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการลงทุน ผสานกับมุมมองของ Mega Trend ได้แก่ แนวโน้มการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นตัวกำหนดว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าวในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า
Bottom up คือ การมองย้อนจากตัวบริษัทขึ้นไปให้สอดคล้องกับ Investment Theme ข้างต้น โดยพิจารณาบริษัทที่มีความพร้อมในเชิงคุณภาพและปริมาณที่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ดีภายใต้ Mega trend ซึ่งเป็นแนวโน้มในระยะยาว ที่วิเคราะห์ได้จาก โมเดลธุรกิจของบริษัท ความได้เปรียบในการแข่งขัน ระดับการยอมรับในแบรนด์ของสินค้า/บริการ ความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหาร ในการคัดเลือกจะใช้แนวคิดแบบ Value investment ซึ่งเป็นการเฟ้นหาหุ้น value stock เพื่อซื้อลงทุนในระยะยาวๆ โดยเป็นหุ้น Under-covered stock หมายถึงบริษัทที่มีโอกาสหรือแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคต แต่ยังไม่ถูกค้นพบโดยนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ทั่วไป
เมื่อผลประกอบการที่ดีค่อยๆ แสดงตัวออกมา และนักลงทุนทั่วไปหันมาสนใจเข้าลงทุนจนเป็นที่นิยม จะส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหุ้นประเภทที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากในระยะยาว
กองทุนบัวหลวงทศพลเหมาะสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูงในระดับเฉลี่ย 8-10% ต่อปีในระยะยาว สามารถถือลงทุนได้ 3-5 ปีขึ้นไป และยอมรับเสี่ยงโดยอดทนกับความผันผวนของมูลค่ากองทุนได้
ที่ผ่านมากองทุนสามารถทำผลตอบแทนในระยะยาว 5-10 ปี ได้สูงกว่ากองทุนอื่นๆ แต่ก็แลกกับความผันผวนระดับสูง เช่น ในปี 2551 เกิดวิกฤตทางการเงินในสหรัฐ กองทุนติดลบถึง 38.9% บางปีก็ให้ผลตอบแทนสูงมากถึง 75.9% ค่าความผันผวนทางสถิติที่ใช้วัดความเสี่ยงคือ Standard deviation จึงสูงกว่ากองทุนอื่นๆ