กนง. มีมติ 5:2 เสียง คงดอกเบี้ย พร้อมหั่นเป้าส่งออกปี 2019 หวั่นสงครามการค้าป่วน

กนง. มีมติ 5:2 เสียง คงดอกเบี้ย พร้อมหั่นเป้าส่งออกปี 2019 หวั่นสงครามการค้าป่วน

กนง.เสียงแตก มีมติ 5:2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ต่อปี ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 27 พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 4.4% ด้านปี 2019 ที่ 4.2% ชี้เศรษฐกิจภาพรวมยังโตต่อเนื่อง ได้ส่งออก – ท่องเที่ยวเป็นแรงหนุนสำคัญ แต่ปีหน้าคาดสงครามการค้าป่วน หั่นเป้าส่งออกปี 2019 ลงเหลือ เหลือ 4.3% จากเดิมคาด 5% ส่วนเงินเฟ้อเหลือ 1.1% จาก 1.2% ย้ำให้ดบ.ระดับต่ำมีความจำเป็นน้อยลง

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี ซึ่งถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องกัน 27 ครั้ง พร้อมทั้งยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2561 ไว้ที่ระดับ 4.4% และปี 2019 ที่ระดับ 4.2% โดยเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

ด้านการส่งออกสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงบ้าง จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน แต่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทย ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบได้บางส่วน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวดีขึ้น ตามปัจจัยสนับสนุนจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐ-จีน ที่อาจประกาศเพิ่มเติมและมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับการส่งออกในปีนี้ กนง.ยังให้คงคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 9% ขณะที่ปีหน้าปรับลดลงเหลือ 4.3% จากเดิมคาด 5% เนื่องจากความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ขณะที่การนำเข้าปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 16.9% จากเดิมคาดโต 14.7% ด้านปี 2019 ลดลงเหลือ 5.6% จากเดิมคาด 6.9%

โดยในปีนี้ กนง.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ที่ 1.1% ขณะที่ปี 2019 ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลดลงจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยจาก 1.2% เป็น 1.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาด 0.7% และปีหน้าลดลงจาก 0.9% เป็น 0.8% ซึ่งกนง.มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีความเสี่ยงจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต

ทั้งนี้ คณะกรรมการ มองว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดัยต่ำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค จากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน ดังนั้น กนง.จึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้ คณะกรรมการยังแสดงความกังวลต่อภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งให้ติดตามภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่ และพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนด้วย

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ กนง.ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเกินดุล 35,400 ล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดเกินดุล 40,000 ล้านดอลลาร์ ด้านปีหน้า คาดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 36,300 ล้านดอลลาร์ จากเดิมคาด 36,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มเป็น 70.3 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดิมที่ 69.2 ดอลลาร์ต่อบาเรล ด้านปี 2019 คาด 69.8 ดอลลาร์ต่อบาเรลจากเดิมที่ 68.3 ดอลลาร์ต่อบาเรล

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น ยอมรับว่า ความจำเป็นในการใช้อัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายในระดับต่ำมีความจำเป็นน้อยลง แต่จะปรับขึ้นเมื่อไหร่นั้น คงไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆประกอบด้วย ทั้งเศรษฐกิจในและต่างประเทศ