เปลี่ยนใจได้ไหม ถ้าไม่ปลื้มกับ LTF / RMF ที่ถืออยู่

เปลี่ยนใจได้ไหม ถ้าไม่ปลื้มกับ LTF / RMF ที่ถืออยู่

เปลี่ยนใจได้ไหม ถ้าไม่ปลื้มกับ LTF / RMF ที่ถืออยู่

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ไม่ชอบใจกองทุน LTF/RMF ที่ลงทุนอยู่ อยากเปลี่ยนกองทุน สามารถทำได้ไหม?

  • สามารถทำได้ แต่เงื่อนไขการเปลี่ยนกองทุนคือ จะต้องเปลี่ยนกองทุนไปในกองทุนแบบเดียวกัน เช่น เปลี่ยนจากกองทุน LTF A ไปยัง กองทุน LTF B จะไม่สามารถเปลี่ยนจากกองทุน LTF A มายังกองทุน RMF A หรือเปลี่ยนจากกองทุน RMF A ไปยังกองทุน LTF B ได้

การเปลี่ยนแบบนี้จะต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

  • ถ้าเป็นกองทุนรวม LTF เงื่อนไขของกองทุนประเภทนี้คือจะมีการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ดังนั้น ไม่ว่าจะสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม LTF กองไหนก็จะเข้าเงื่อนไขนี้เหมือนกัน แต่สามารถเลือกได้ว่า หากกองทุนรวม LTF ที่เราถืออยู่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล แต่เราอยากได้รับเงินปันผลบ้าง ก็สามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม LTF ที่มีเงินปันผลได้

การสับเปลี่ยนจะต้องทำอย่างไร?

  • สามารถแจ้งตัวแทนสนับสนุนการขายที่เราใช้บริการ หากเป็นการสับเปลี่ยนภายในบลจ.เดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่จะได้ราคารับซื้อคืนของกองทุนต้นทาง และได้ราคาขายของกองทุนปลายทาง
  • ถ้าหากต้องการสับเปลี่ยนไปยังบลจ.อื่น ก็สามารถทำได้ แต่ควรสอบถามกองทุนต้นทางก่อนว่ามีค่าใช้จ่ายในการสับเปลี่ยนข้าม บลจ.หรือไม่ เพราะหากมีค่าใช้จ่ายสูง การสับเปลี่ยนข้าม บลจ. อาจมีต้นทุนที่สูงด้วย ก็แนะนำให้สับเปลี่ยนในบลจ.เดียวกัน และลงทุนใหม่ในกองทุนที่โดนใจมากกว่า โดยคงของเดิมไว้ที่เดิม
  • แต่ถ้าอยากสับเปลี่ยนข้าม บลจ.จริงๆ ก็ต้องไปติดต่อบลจ.ปลายทางที่ต้องไปก่อน โดยเลือกกองทุนที่เราต้องการ จากนั้นนำใบสับเปลี่ยนที่ได้จากกองทุนปลายทางมายังกองทุนต้นทาง เพื่อให้ทางกองทุนต้นทางทำเช็คสั่งจ่ายตรงไปยังกองทุนปลายทาง ซื่งเงินที่ได้จะไม่ออกมาถึงมือเรา จะตรงเข้ากองทุนปลายทาง ทำให้ไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน

กองทุนรวม RMF เหมือนหรือแตกต่างจาก LTF อย่างไร? 

  • กองทุนรวม RMF มีหลากหลายนโยบายการลงทุนมากกว่า ดังนั้น การสับเปลี่ยนกองทุนหากอยู่ในบลจ.เดียวกันก็ทำได้โดยสะดวก แต่หากต้องการย้ายบลจ.ก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะเหมือนกับกองทุนรวม LTF
  • ระยะเวลาในการสับเปลี่ยนจะอยู่ใน 5 วันทำการ นับหลังจากวันที่ บลจ.ปลายทางได้รับเอกสารสับเปลี่ยนที่สมบูรณ์แล้ว

การสับเปลี่ยนกองทุนข้าม บลจ. จะถือว่าเป็นการลงทุนใหม่หรือไม่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี?

  • ไม่ถือเป็นการลงทุนใหม่ เพราะเงินที่สับเปลี่ยนกองทุนเป็นเงินลงทุนก้อนเดิมที่ลงทุนมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ใช่เงินลงทุนก้อนใหม่ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้นว่าได้ลงทุนในปีนี้ และมีการสับเปลี่ยนในปีเดียวกัน จึงจะสามารถนำมาคำนวณเพื่อลดภาษีได้
  • หากคิดง่ายๆ คือ จ่ายเงินออกจากกระเป๋าปีไหนก็สามารถลดหย่อนได้ปีนั้น

ไม่พอใจกับผลการดำเนินงานของกองทุนที่ลงทุนต้องทำอย่างไร หากเจอกองใหม่ที่ดีกว่า เปลี่ยนใจได้ไหม? 

  • เปลี่ยนใจได้ แต่ไม่แนะนำให้ขายคืนก่อนครบกำหนด เพราะจะเสียสิทธิทางภาษี
  • แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนใจโดยการสับเปลี่ยนไปยังกองทุนที่ถูกใจก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ก่อนการลงทุนควรสอบถามเจ้าหน้าที่หรืออ่านหนังสือชี้ชวนก่อนว่าสามารถสับเปลี่ยนได้หรือไม่ เพราะกองทุนต่างประเทศบางกองอาจไม่สามารถสับเปลี่ยนได้
  • หากเป็นแบบนี้ แนะนำให้ถือกองทุนเดิม และในส่วนที่ลงทุนใหม่ ให้ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนใหม่ที่เราต้องการ ซึ่งสามารถลงทุนต่างบลจ.ได้

ในแต่ละปีต้องลงทุนกองทุนเดิมทุกปีหรือไม่ อย่างเช่น ลงทุน กองทุน RMF A ต้องลงทุนกองทุนนี้ทุกปี ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมหรือไม่?

  • ไม่จำเป็น เพียงแค่ลงทุนให้ถูกต้องตามเงื่อนไขก็เพียงพอ เช่น ปีนี้ซื้อ RMF A 50,000 บาท ปีหน้าอาจจะไม่ซื้อ RMF A เลยก็ได้ แต่ต้องซื้อกองทุน RMF อื่นๆ อย่างน้อย ขั้นต่ำ 3% ของรายได้ทั้งปีหรือ 5,000 บาท
  • หากเราต้องการซื้อ 50,000 บาท จะซื้อ กองทุนละ 500 บาท 1,000 บาท 40,000 บาท ก็ได้ รวมแล้วให้ได้ตามที่ต้องการแต่ต้องไม่เกินสิทธิในการซื้อ เช่นรายได้ปีละ 1 ล้านบาท ซื้อได้ไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น

จำเป็นหรือไม่ว่าเมื่อลงทุนถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว จะต้องขายในปีที่ครบกำหนด เช่น ลงทุนในกองทุนรวม LTF ปี 2557 จะสามารถขายคืนได้อย่างไร?

  • สามารถขายคืนได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป แต่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องขายภายในปี 2561 ดังนั้น หากเราไม่ต้องการใช้เงิน ก็ยังคงให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม LTF ต่อไปได้  แต่ถ้าต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่ม แต่ไม่มีเงินลงทุนก้อนใหม่ ก็สามารถขายคืน และนำเงินได้จากการขายคืนมาลงทุนในกองทุนรวม LTF ใหม่ เพื่อใช้สิทธิภาษี แต่การลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 จะต้องลงทุนแล้วถือ 7 ปีปฏิทิน

หากมีเงินจำกัดจะลงทุนในกองทุน LTF หรือ RMF ดี? 

  • ต้องดูวัตถุประสงค์ของการลงทุน ระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้ รวมถึงความเสี่ยงที่สามารถรับได้
  • หากรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก แต่มีระยะเวลาลงทุนนาน อยากลงทุนเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณ RMF ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีหลากหลายนโยบายให้เลือกมากกว่า แต่ถึงอย่างไร ยิ่งมีระยะเวลาการลงทุนนาน ก็ควรมีการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงบ้าง เพราะหากไม่รับความเสี่ยงเลย มูลค่าเงินจะลดลงในอนาคตเนื่องจากเงินเฟ้อ
  • แต่ถ้าหากรายได้ไม่สม่ำเสมอ เสียภาษีบ้าง ไม่เสียภาษีบ้าง รับความเสี่ยงได้สูง กองทุนรวม LTF ก็เป็นทางเลือกที่ดี ไม่ต้องผูกพันนานๆ แต่ลงทุนแล้วต้องถือ 7 ปีปฏิทิน