จับตายอดกู้บ้านหลังที่ 2 พุ่ง สวนทางมาตรฐานปล่อยสินเชื่อที่ต่ำลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเกี่ยวกับภาวะการเงินในอนาคตว่า ให้ติดตามการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินที่อาจสะท้อนจากการประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร โดยเฉพาะการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (loan-to-value: LTV) เกิน 90% ที่เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (loan-to-income: LTI) ที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไป มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลงเช่นกัน ประกอบกับสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีทิศทางปรับสูงขึ้น ขณะที่ยังมีอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่

ด้านความเสี่ยงที่คณะกรรมการฯ อยากให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) พฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลงชัดเจนประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อีกทั้ง อัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินออมในอนาคต และ (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นอื่น ๆ ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูง ทำให้สินทรัพย์ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องและเป็นแรงกดดันให้ต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การออกตราสารหนี้ของภาคธุรกิจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างกระจุกตัวในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักและลงทุนกิจการในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น