เงินเฟ้อฟิลิปปินส์เดือนก.ย. ขยายตัว 6.7% YoY สูงสุดในรอบ 9 ปี

เงินเฟ้อฟิลิปปินส์เดือนก.ย. ขยายตัว 6.7% YoY สูงสุดในรอบ 9 ปี

BF Economic Research

  • อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์เดือน ก.ย. ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 6.7% YoY จากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว 6.4% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 6.8% โดยเป็นการขยายตัวเหนือกรอบเป้าหมายของ BSP เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
  • ราคาอาหารยังเป็นปัจจัยกดดันหลักโดยเฉพาะข้าวซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากความล่าช้าในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ 
  • อย่างไรก็ดี คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์น่าจะชะลอลงในไตรมาสสุดท้ายของปี ล่าสุด BSP ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2018 เป็น 5.2% จาก 4.9% 

อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 6.7% YoY จากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว 6.4% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 6.8% YoY แต่ยังคงหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทางการฟิลิปปินส์ได้ตั้งไว้ที่ 2-4% เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อใน 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.3% YoY โดยล่าสุด BSP ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2018 เป็น 5.2% จาก 4.9% และปี 2019 เป็น 4.3% จาก 3.7%

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังคงได้รับแรงกดดันมาจากราคาอาหารซึ่งมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อกว่า 38.3% เป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความล่าช้าในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ผลจากไต้ฝุ่นมังคุดที่พัดถล่มในตอนเหนือของเกาะลูซอนซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรสำคัญของฟิลิปปินส์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาเงินเฟ้อในเดือนกันยายนให้เร่งขึ้น

อย่างไรก็ดี คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะชะลอลง เนื่องจากผลของฐานที่สูงของไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลของการดำเนินนโยบายการเงินอย่างรัดกุมโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการเงินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา BSP ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50 basis points เป็น 4.5% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รวมทั้งสิ้น 150 Basis Point นอกจากนี้ ทางการฟิลิปปินส์ยังได้มีการใช้เครื่องมือในการควบคุมระดับราคาสินค้าโดยการออกมาตราการต่างๆ อย่างการนำเข้าข้าว 750,000 ตันภายในสิ้นปี 2018 รวมถึงแผนที่จะระงับการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่ราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยเกินกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน เป็นต้น