By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
ปัจจุบันไม่ว่าเราจะเดินไปช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า ไปตามแผงลอย จนถึงการช้อปปิ้งผ่านแอปพลิเคชันบนหน้าจอมือถือของเราเอง ในทุกช่องทางต่างก็มีร้านค้าหลายแห่งที่พร้อมเปิดรับการชำระเงินทางอิเล็คทรอนิกส์กันหมดแล้ว ไม่ต้องเดินไปกดเงินสด หรือโอนที่ตู้เอทีเอ็มกันให้เสียเวลาอีกต่อไป แต่แค่สแกนคิวอาร์โค้ดมาตรฐานตามร้านค้า หรือแค่กดหมายเลขโทรศัพท์มือถือของพ่อค้า แม่ค้า ก็จ่ายเงินได้แล้ว และดูเหมือนคนไทยก็จะเริ่มคุ้นชินกับการใช้จ่ายแบบนี้ด้วย
ในงาน BOT Symposium 2018 ซึ่งเป็นสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้มีการมานำเสนองานวิจัยเรื่อง “เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด” โดยบรรดานักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยเรื่องนี้ ประกอบด้วย อัจจนา ล่ำซำ ,จารีย์ ปิ่นทอง และชนกานต์ ฤทธินนท์ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึง อณิยา ฉิมน้อย และภูริวัฒน์ ตราเกียรติกุล จาก ธปท.
ตัวเลขที่ทางผู้เขียนงานวิจัยเรื่องนี้ได้นำเสนอน่าสนใจทีเดียว โดยระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนท์) เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า คือจาก 14 ครั้งต่อคนต่อปี เมื่อปี 2007 พุ่งทะยานขึ้นมาเป็น 63 ครั้งต่อคนต่อปี ในปี 2017 ที่ผ่านมา
ขณะที่ ธปท. ได้ไปทำสำรวจว่าใครกันบ้างที่ใช้อี-เพย์เมนท์ สิ่งที่พบก็คือ สัดส่วนคนไทยที่ใช้อี-เพย์เมนท์ อยู่ที่ 17% ของจำนวนประชากร โดยกลุ่มคนที่ใช้หลักๆ คือ นักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้นั้น สาเหตุเพราะค่าธรรมเนียมแพง และวงเงินที่ใช้จ่ายได้ก็จำกัด ด้วยเหตุนี้ธปท. จึงแก้ไขข้อจำกัดด้วยการผลักดัน ‘พร้อมเพย์’ ออกมา ซึ่งทำให้ผู้ที่ชำระหรือโอนเงินผ่านพร้อมเพย์นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เลย
ผลที่เกิดตามมาก็คือ พร้อมเพย์เปิดบริการไปครึ่งปี มี 43% ของคนไทยที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว และมีการใช้พร้อมเพย์รวมอยู่ที่ 2.7 ล้านรายการต่อวัน
สำหรับ ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ เดือน ส.ค. 2018 อยู่ที่ 44.5 ล้านหมายเลข แบ่งเป็นการลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข และลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ 15.8 ล้านหมายเลข ซึ่งบางคนนั้นก็ลงทะเบียนพร้อมเพย์เอาไว้ทั้งหมายเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือ
พฤติกรรมการใช้พร้อมเพย์นั้น 82% จะโอนเงินมูลค่าต่ำกว่า 5,000 บาท โดยนิยมใช้ผ่านช่องทางโมบาย แบงก์กิ้ง ขณะที่การโอนเงินมูลค่าสูงขึ้นนั้น คนส่วนใหญ่จะไปใช้อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้งหรือทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์แทน
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงนั้นใช้พร้อมเพย์บ่อยกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายนั้นจะใช้จ่ายพร้อมเพย์ต่อครั้งในมูลค่าที่สูงกว่าผู้หญิง โดยคนมักจะใช้พร้อมเพย์กันในวันทำงานมากกว่าวันหยุด และใช้บ่อยครั้งในช่วงพักเที่ยงกับหลังเลิกงาน เมื่อพิจารณาวันที่ธุรกรรมหนาแน่น ก็พบว่า จะเป็นช่วงต้นเดือนและปลายเดือน แต่ถ้าดูตามวันที่แล้ว วันที่ 1 และ 16 ของเดือนจะมีธุรกรรมมากเป็นพิเศษหลัง 16.00 น.
ทั้งนี้ หลังจากการมาของพร้อมเพย์ ธนาคารพาณิชย์ได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ยิ่งทำให้คนหันมาใช้อี-เพย์เมนท์กันมากขึ้นไปอีก โดยพบว่าผลจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมนั้น ทำให้คนเปิดใช้งานโมบาย แบงก์กิ้ง และอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้งเพิ่มขึ้น และการทำธุรกรรมข้ามธนาคารผ่านทั้ง 2 ช่องทางนี้เติบโตก้าวกระโดดถึง 200%
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้คนไทยหันมาใช้อี-เพย์เมนท์กันมากขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ก็ยิ่งเป็นแรงส่งให้การก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทยหลังจากนี้จะรวดเร็วขึ้นกว่าการขยับตัวในช่วงที่ผ่านๆ มาแน่นอน ก็ไม่แน่ว่าต่อไป ก้าวเท้าออกมาจากบ้านเพื่อไปที่ไหนๆ ในประเทศไทย อาจจะไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัว มีแค่โทรศัพท์มือถือก็เอาอยู่แล้วก็ได้