ทำไมต้องปรับพอร์ตลงทุน
โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
การปรับพอร์ตคือการเปลี่ยนสัดส่วนทรัพย์สินลงทุน อาจจะเป็นการปรับประเภททรัพย์สินไปเลย หรือปรับในประเภทเดียวกัน เช่น การปรับพอร์ตลงทุน ที่เปลี่ยนประเภทการลงทุน จากเดิมลงทุน 70-30 คือหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% เมื่อเราอายุมากขึ้น ต้องการลดความเสี่ยงลง เพราะเวลาทำงานหาเงิน ลดลง ถ้าเสี่ยงมากๆ อยู่ เกิดอะไรขึ้นมาเวลาแก้ตัวน้อยลง ก็ลดความเสี่ยงโดยรวมลง เป็น 50 – 50 และพอใกล้เกษียณก็ยิ่งควรลดสัดส่วนหุ้นลง
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมของการปรับพอร์ต ขึ้นอยู่กับ 2 เรื่อง คือ 1.ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนไป เช่น อายุมากขึ้นก็ต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง 2.การปรับพอร์ตตามภาวการณ์ จากการที่พอร์ตมีมูลค่าหรือสัดส่วนที่เพี้ยนไป เนื่องจากการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหุ้น หรือมีสถานการณ์ผิดปกติ
ทั้งนี้ หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น ก็อาจปรับพอร์ตได้ โดยควรดูเป็นระยะ แต่ไม่ต้องติดตามกันทุกเดือน ทุกไตรมาส อาจจะเพียงปีละครั้ง ดูว่าสัดส่วนยังเหมือนเดิมที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ หากไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนไปมาก ก็ควรปรับให้กลับมามีสัดส่วนเดิม
เช่น ถ้าตั้งใจว่าต้องการลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ 60-40 เราก็ลงทุนตามนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งพอร์ตปัจจุบัน และเงินใหม่ที่ใส่ลงไป แต่นานๆ เข้า พอมีผลตอบแทน อาจจะกำไรขาดทุน โดยเฉพาะหุ้น เวลาขึ้นมากๆ ก็จะทำให้สัดส่วนของทรัพย์สินราเปลี่ยนไป หุ้นอาจมีมูลค่ามากขึ้น แต่ตราสารหนี้ขึ้นในระดับที่น้อย ดังนั้นอาจทำให้พอร์ตกลายเป็นหุ้น 75% ตราสารหนี้ 25% แบบนี้ถือว่าเพี้ยนไปจากความตั้งใจ ที่เป็น หุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% มาก ก็ควรขายหุ้นบางส่วนออกมา ให้สัดส่วนหุ้นลดลง แล้วซื้อตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้กลับเป็น 60-40 อย่างที่ตั้งใจแต่แรก เรียกว่า rebalancing
โดยภาพรวมแล้วข้อดีของการปรับพอร์ตลงทุนในภาวะปกติ ก็คือ ทำให้สัดส่วนพอร์ตอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ตั้งใจไว้ ไม่ผิดเพี้ยนไปมากนัก และการปรับเช่นนี้ยังทำให้เราได้ทำอะไรบางอย่างด้วย เช่น สมมติหุ้นขึ้น ได้ปรับพอร์ตด้วยการขายหุ้นออกมาบางส่วนแล้วนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ ก็เปรียบเหมือนกับได้ขายทำกำไรหุ้นในพอร์ตในวันที่หุ้นขึ้นไปสูงๆ ขณะเดียวกันถ้าวันที่หุ้นตกมากๆ ตั้งใจไว้ 60-40 ทำให้พอร์ตกลายเป็น 50-50 ก็สามารถโยกเงินจากตราสารหนี้เพื่อไปซื้อหุ้นเพิ่มในวันที่หุ้นตกได้ เรียกว่าเป็นการบริหารจัดการพอร์ตเพื่อหวังให้มีกำไรมากขึ้น
สรุปแล้ว ไม่มีสูตรตายตัวว่าการปรับพอร์ตแบบไหนดีที่สุด แต่อาจจะกำหนดให้ตัวเอง โดยในวันที่ตลาดหุ้นขึ้นลงปกติ มีข่าวร้ายบ้างมีข่าวดีบ้าง ก็อาจจะมาดูสักครั้งในช่วง 3-6เดือน ดูสัดส่วน แต่ไม่ต้องปรับพอร์ตบ่อย อาจทำปีละ 1-2ปีครั้งก็ได้ ส่วนกรณีมีเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างมาก เช่น ช่วงวิกฤตซับไพร์ม หรือตลาดหุ้นตก 20-30% ในช่วงนั้นก็ควรปรับพอร์ตให้กลับมาอยู่เท่าเดิม