สารพันเรื่องน่ารู้กองทุนรวม RMF

สารพันเรื่องน่ารู้กองทุนรวม RMF

สารพันเรื่องน่ารู้กองทุนรวม RMF

โดย…อรพรรณ  บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ถ้าลงทุน RMF ขายก่อนปีที่ครบกำหนดได้หรือเปล่า 

ขายได้ แต่จะผิดเงื่อนไขการลงทุนของกองทุนรวม RMF โดยการผิดเงื่อนไขให้พิจารณา 2 ข้อ คือ

1.ลงทุนมาแล้ว 5 ปีแต่ยังมีอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์

หากลงทุนมาแล้ว 5 ปี แต่อายุยังไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ แล้วขายกองทุนรวม RMF ผิดเงื่อนไขในเรื่องของอายุของผู้ลงทุนที่ไม่ถึง 55 ปี ในกรณีนี้ หากขายหมด กำไรที่ได้รับ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ แต่จะต้องคืนสิทธิทางภาษีย้อนหลังสูงสุด 5 ปี เช่น ลงทุนมาแล้ว 10 ปี ปีละ 10,000 บาท อัตราภาษี ที่เสีย 20% เท่ากับว่าได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปีละ 2,000 บาท ลงทุนแบบนี้มา 10 ปี เท่ากับได้สิทธิทางภาษีรวม 20,000 บาท แต่อยากขายคืนก่อนในขณะที่อายุยังไม่ถึง 10 ปี เท่ากับมีเงินต้นลงทุน 10,000 x 10 ปี = 100,000 บาท หากขายคืนได้เงินมา 120,000 บาท ส่วนเกิน 20,000 บาท ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้  แต่จะต้องคืนสิทธิทางภาษีที่ได้รับคืน 5 ปีสุดท้ายที่ลงทุน ก็คือคืน 2,000 x 5 ปี = 10,000 บาท

2. ลงทุนน้อยกว่า 5 ปี อายุครบหรือไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์

ในกรณีนี้ จะต้องคืนสิทธิทางภาษีที่ได้รับมาคืนทั้งหมด และหากตอนขายมีกำไร จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ขายคืนด้วย เช่น ลงทุนมา 3 ปี ปีละ 10,000 บาท เสียภาษีอัตรา 20% เท่ากับได้สิทธิทางภาษีปีละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี รวม 6,000 บาท เงินจำนวนนี้จะต้องคืนกรมสรรพากร โดยการยื่นแบบ ภงด.ใหม่ 3 ปี เสมือนไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวม RMF มาก่อน และในตอนที่ขายหากขายได้เงินมา 36,000 บาท ส่วนที่เป็นกำไรคือ 6,000 บาท จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ขายด้วย

ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด จะต้องนำมายื่นใหม่ภายใน 31 มีนาคมปีถัดจากปีที่ขาย หากไม่มายื่น จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ของเงินคืน

ถ้าลงทุนกองทุนรวม RMF ครบกำหนดแล้ว ต้องขายคืนทันทีเลยไหม

ไม่จำเป็นต้องขาย หากยังไม่ต้องการใช้เงิน ในกรณีที่ต้องการให้เงินทำงานอยู่ยังคงสามารถคงเงินในกองทุนได้ แต่ถ้าหากต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีใหม่ และไม่มีเงินก้อนใหม่ที่สามารถนำมาลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ก็สามารถขายคืนเพื่อมาลงทุนใหม่ และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ใหม่

เวลานับเงินก้อนครบกำหนดกองทุนรวม RMF นับอย่างไร

ในส่วนของกองทุนรวม RMF เมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข คือ อายุผู้ลงทุนครบ 55 ปีบริบูรณ์ มีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับการลงทุนตั้งแต่ครั้งแรก ครบ 5 ปีบริบูรณ์  ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์

เช่น ลงทุนปีแรกปี 2555 วันที่ 1 กันยายน ปี 2556 ปี 2557 ปี 2558 ปี 2559 สามารถขายคืนได้ปี 2560 โดยผู้ลงทุนจะต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และการลงทุนตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงวันที่ขายต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับวันชนวัน) เท่ากับวันครบกำหนดคือวันที่ 1 กันยายน 2560 หากผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์แล้ว ก็สามารถขายคืนทั้งหมดได้ โดยที่การซื้อครั้งสุดท้ายอาจจะมีการลงทุนไม่ถึง 1 ปี (ขายเหมารวมทั้งหมดได้) ในกรณีนี้ อาจพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมการขายคืนหากมีการลงทุนไม่ครบปีด้วยว่ามีค่าธรรมเนียมอย่างไร ในส่วนของสิทธิขายสามารถขายคืนได้ทั้งหมด แต่แนะนำให้ขายคืนหลังจากยื่นลดหย่อนภาษีเรียบร้อยแล้ว และได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว และไม่คิดว่าจะมีการลงทุนใหม่

ในส่วนกองทุนรวม RMF ถ้าครบกำหนดถูกต้องตามเงื่อนไข จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

  • ในส่วนของกองทุนรวม RMF เมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข คือ อายุผู้ลงทุนครบ 55 ปีบริบูรณ์ มีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับการลงทุนตั้งแต่ครั้งแรก ครบ 5 ปีบริบูรณ์  ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์  ให้แบ่งดังนี้
  1. ยังมีเงินได้เพื่อเสียภาษีอีก เพราะเกษียณหลังอายุ 55 ปี เช่น 60 หรือ 65 แนะนำให้ลงทุนต่อเนื่อง ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้เงิน และต้องการให้มีเงินมากขึ้นในช่วงเกษียณ ไม่จำเป็นต้องขายคืนออกมา
  2. หากมีรายได้ต่อเนื่อง อยากลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี และอยากขายคืนเพื่อนำเงินมาใช้ หรือทำอะไร แนะนำให้ขายคืนทั้งหมดและเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ เช่น ขายคืนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับวันชนวัน
  • ขายคืนทั้งหมด แล้วเริ่มต้นลงทุนโดยนับการลงทุนใหม่ และลงทุนไปอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี (เหมือนเริ่มลงทุนใหม่)
  • หากไม่มีเงินได้อีกต่อไป สามารถทยอยขายคืนเพื่อนำเงินมาใช้บางส่วน หรืออยากขายคืนทั้งหมดเพื่อนำเงินก้อนมาใช้ก็ได้

กองทุนรวม RMF มีการจ่ายเงินปันผลหรือไม่

กองทุนรวม RMF ทุกกองทุน ไม่มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผล (ซึ่งมีลักษณะเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD)

เรามีสิทธิซื้อกองทุนรวม RMF ได้แค่ไหนในแต่ละปี

สามารถซื้อขั้นต่ำได้ 3% ของรายได้ทั้งปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า เริ่มต้นที่จำนวนนั้น สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี ทั้งนี้เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครู และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ยกตัวอย่าง รายได้เดือนละ 100,000 บาท ปีนึงเท่ากับ 1.2 ล้านบาท จะสามารถลงทุนใน RMF ได้สูงสุด 180,000 บาท ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหากเราใช้สิทธิส่งเงินสะสมเต็มจำนวน คือ 15% ของเงินเดือน จะเท่ากับในปีนั้นเราส่งเดือนละ 15,000 บาท 1 ปี เท่ากับ 180,000 บาท หากเราไม่มีประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็สามารถลงทุนได้เต็มสิทธิคือ 180,000 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ 180,000 บาท กองทุนรวม RMF เพราะเมื่อรวมกันแล้วจะมีจำนวน 360,000 บาท ซึ่งไม่เกินสิทธิ 500,000 บาท

แต่ถ้ามีประกันชีวิตแบบบำนาญด้วย ซึ่งสิทธิลดหย่อนของเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (ไม่รวม 100,000 บาทแรกที่สามารถลดได้ทุกแบบของประกันชีวิต) จะได้ 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น หากซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญโดยชำระค่าเบี้ยประกันปีละ 180,000 บาท จะทำให้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันแบบบำนาญ และกองทุนรวม RMF รวมกันแล้วมีจำนวน 540,000 บาท ซึ่งการปรับเปลี่ยนค่าเบี้ยประกันแบบบนำนาญ คงเป็นไปได้ยาก รวมถึงการปรับเปลี่ยนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีนี้ เราก็สามารถลดเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพลง จาก 180,000 บาท เหลือ 140,000 บาท เพื่อให้ไม่เกินสิทธิลดหย่อนทางภาษี

ถ้ามีกองทุนใหม่ๆ ออกมา ซื้อกองทุน RMF หลายๆ กองทุนได้ไหม

สามารถทำได้ เพราะการลงทุนในกองทุนรวม RMF มีหลากหลายนโยบาย ดังนั้น เราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับการเกษียณโดยใช้กองทุนรวม RMF เป็นเครื่องมือได้ อย่างเช่น เรารับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก แต่มีระยะเวลาลงทุนนาน ก็เน้นกองทุนตราสารหนี้ RMF มากหน่อย กองทุนตราสารทุน RMF 20-30%

หากเรารับความเสี่ยงได้สูง ก็สามารถเลือกนโยบายกองทุนรวม RMF ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ หรือจะเป็นทองคำมากขึ้นหน่อย เช่น 20-30% อีก 30-50% ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนตราสารทุน RMF ส่วนที่เหลือก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ RMF ก็สามารถทำได้

แต่เมื่อลงทุนแล้ว แนะนำว่าอย่าลงทุนเกินสิทธิที่ได้รับ หากต้องการลงทุนมากเกินกว่าสิทธิที่สามารถลงทุนได้ แนะนำให้ลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไปที่มีนโยบายใกล้เคียงกันจะดีกว่า

ที่สำคัญ เมื่อตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม RMF แล้ว จะเป็นการผูกพัน ลงทุนระยะยาว ลงทุนต่อเนื่องไปทุกปีๆ จนถึงอายุ 55 ปี หากยังมีเงินได้อยู่ก็ยังสามารถลงทุนต่อเนื่องต่อไปได้ จนกว่า เราจะไม่มีเงินได้เพื่อเสียภาษีแล้วจึงหยุดลงทุน เพราะฉะนั้น ต้องมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม RMF