BF Economic Research
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank of Indonesia: BI) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25bps จาก 5.75% เป็น 6.0% โดยเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในรอบปี รวมทั้งหมด 175bps เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ที่ยังถือว่าผันผวน และอ่อนค่าลงมามากที่สุดในอาเซียนที่ -7.6% YTD แม้จะปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 15,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์แล้วก็ตาม
การขึ้นดอกเบี้ยของ BI ครั้งนี้นับว่าเหนือความคาดหมายของตลาดที่คาดว่า BI จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. ก่อนจะปรับขึ้น 25bps ในการประชุมเดือนธ.ค. เนื่องจากการประชุมในเดือนธ.ค. เป็นการประชุมในวันเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (FED Fund Rate) เช่นเดียวกัน
ในวันเดียวกันอินโดนีเซียได้ประกาศตัวเลขดุลการค้าเดือนต.ค. ที่ออกมาขาดดุล -1,820 ล้านดอลลาร์ฯ หลังจากในเดือนก่อนหน้าเกินดุลเล็กน้อยที่ 314 ล้านดอลลาร์ฯ เนื่องจากการนำเข้าขยายตัวสูงถึง 23.7% YoY แต่การส่งออกขยายตัวเพียง 3.6% YoY โดยแม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการลดการขาดดุลการค้าลง ทั้งมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าบริโภคบางรายการ และเลื่อนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าสูง แต่ผลของมาตรการต่างๆ ยังไม่เห็นผลชัดเจน ดังนั้นจึงต้องจับตาตัวเลขดุลการค้าเดือนพ.ย. ว่าจะขาดดุลต่อเนื่องหรือไม่ หรือเป็นเพียงการขาดดุลในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งการขาดดุลการค้าต่อเนื่องนับไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Deficit) ที่มากขึ้น และกดดันให้ค่าเงินรูเปียห์ยิ่งอ่อนค่าลง