นักลงทุนที่มีเหตุมีผลเขามีวิธีคิดอย่างไรกัน?

เคยเป็นบ้างไหมที่พอร์ตโฟลิโอจากการจัดสรรเงินลงทุนของท่านได้รับอัตราผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าความเสี่ยง หรือต้องยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้นโดยไม่จำเป็น ถ้าท่านเคยมีประสบการณ์เช่นว่าแสดงว่าพอร์ตโฟลิโอของท่านอาจมีน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ด้อยกว่าความเหมาะสม(Sub-optimal)  แนวคิดทางการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) ได้อธิบายสาเหตุของการเกิดพอร์ตโฟลิโอที่ด้อยกว่าความเหมาะสมไว้ว่าเกิดจากการที่นักลงทุนใช้อารมณ์หรือสุ่มเอาในการตัดสินใจ มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป มีการคาดการณ์หวังผลในระยะสั้นๆ มีการใช้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่มีความเกี่ยวข้อง มีการแปลความหมายของข้อมูลที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม และไม่ได้มองความสัมพันธ์หรือผลกระทบของทรัพย์สินทั้งหมดที่ตัวเองถือครองอยู่ ผลลัพธ์ที่นักลงทุนได้จะถูกบิดเบือนไปจากความต้องการหรือความคาดหวังที่แท้จริงตั้งแต่ต้น พฤติกรรมจากเหตุผลทางจิตวิทยาของนักลงทุนเหล่านี้ได้สร้างฟองสบู่ให้เกิดขึ้นในตลาด และถึงทำให้ราคาของหลักทรัพย์ไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของตัวมันเอง ทำให้นักลงทุนที่มีเหตุมีผลสามารถเล็งเห็นความผิดปกติและแสวงหากำไรจากตลาดที่มีประสิทธิภาพน้อยนี้ได้

 

แนวความคิดของการเป็นนักลงทุนที่มีเหตุมีผล

  1. คาดการณ์อย่างมีเหตุมีผล นักลงทุนต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ได้มากที่สุดโดยปราศจากอคติด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้
  2. พึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ถ้าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนระหว่างทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่เท่ากัน ให้เลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า
  3. ต้องมองทรัพย์สินทั้งหมดในภาพรวม นักลงทุนต้องมีการเปรียบเทียบ และพิจารณาผลกระทบระหว่างกันของทรัพย์สินต่างๆ ที่ควรมีไว้ในพอร์ตโฟลิโอกับหลักทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ และมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสมอยู่เสมอ

 

โดยอาศัยหลักการตามที่ว่านี้ท่านก็สามารถปรับปรุงพฤติกรรมการลงทุนของท่านให้ดีขึ้นและนำไปสู่การจัดสรรเงินลงทุนและการกระจายความเสี่ยงให้แก่พอร์ตโฟลิโอของท่านได้อย่างเหมาะสม