ศูนย์ข้อมูลฯ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินอุปทานที่อยู่อาศัยปีหน้า 2.76 แสนหน่วย ระบุยังไม่ล้นตลาด
จากแนวโน้มจีดีพีปี 2018 ทำให้มีความต้องการมารองรับ และประเมินตลาดโตเกิน 4% คาด“คอนโด”กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเกือบ 8 หมื่นหน่วย โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ครองส่วนแบ่ง 72%
ตลาดอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่อปีมูลค่า 8 แสนล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโต
ในงานสัมมนาทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย “ส่องอสังหาฯ 2018” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ประเมินอุปทานตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ปี 2018 มีจำนวน 276,100 หน่วย แบ่งเป็นแนวราบ 154,200 หน่วย สัดส่วน 55.8% และอาคารชุด 121,900 หน่วย สัดส่วน 44.2%
โดยจำนวนหน่วยที่มีมากที่สุด คือ อาคารชุด 44.1% , ทาวน์เฮ้าส์ 24.3% ,บ้านเดี่ยว 23.5% บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ 8.1% ด้วยจำนวนดังกล่าวยังไม่อยู่ในภาวะล้นตลาด
จากตัวเลขคาดการณ์ปริมาณอสังหาริมทรัพย์ปีหน้า ที่จำนวน 276,100 หน่วย เป็นประเภทแนวราบ 154,200 ยูนิต แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 74,300 ยูนิต สัดส่วน 48.2% ภูมิภาค จำนวน 79,900 ยูนิต สัดส่วน 51.8%
ส่วนอาคารชุดจำนวน 121,900 ยูนิต แบ่งเป็น กรุงเทพฯและปริมณฑล 79,900 ยูนิต และ ภูมิภาค 42,000 ยูนิต
เมื่อดูเฉพาะพื้นที่ “กรุงเทพฯและปริมณฑล” ที่จำนวนหน่วย 154,200 หน่วย ประเภท หน่วยมากที่สุด คือ คอนโด 51.2%, ทาวน์เฮ้าส์ 29.1% , บ้านเดี่ยว 13.6% บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ 6.1% ขณะที่ภูมิภาคทั่วประเทศ มีจำนวน 121,900 หน่วย ประเภทหน่วยที่มีมากที่สุด คือ บ้านเดี่ยว 36.2%,คอนโด 34.5%,ทาวน์เฮ้าส์ 18.1%บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ 11.2
เมื่อดูระยะเวลาการขายอสังหาริมทรัพย์ตามปริมาณที่คาดการณ์ คาดว่าจะใช้เวลาเฉลี่ย 15 เดือน หากแยกเป็นบ้านแนวราบ คาดว่าจะใช้เวลาขายหมดใน 17 เดือน ซึ่งใช้เวลาน้อกว่าปกติที่เฉลี่ย 19 เดือน ส่วนตลาดคอนโด คาดว่าจะใช้เวลาขายหมด 13 เดือน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยที่ 12 เดือน