By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
หลายบริษัทไม่ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ให้พนักงาน โดยให้เหตุผลว่า มีเงินก้อนให้ลูกจ้างยามเกษียณอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกองทุนฯ ก็ได้ แต่หากมองให้ดี เมื่อบริษัทมีความตั้งใจดีให้ลูกจ้างของตัวเองมีเงินก้อนใช้ยามเกษียณอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองเปลี่ยนวิธีให้ จากเดิมรอควักกระเป๋าให้ก้อนใหญ่ทีเดียว เปลี่ยนมาทยอยสมทบให้เงินนี้ทำงานไปเรื่อยๆ สร้างผลตอบแทนให้งอกเงย ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ประเด็นนี้ คุณวศิน วัฒนวรกิจกุล Managing Director, Head of Business Distribution และ คุณสุริพล เข็มจินดา Deputy Managing Director, Corporate & High Net Worth Business บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) อธิบายไว้น่าในใจในงานสัมมนา “รู้งี้…ทำตั้งนานแล้ว” ที่กองทุนบัวหลวงจัดขึ้นเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนนายจ้างและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากองค์กรต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ ทั้งสนใจที่จะจัดตั้งกองทุนฯ ร่วมรับฟัง
คุณสุริพล นำเสนอแนวคิดว่า การมีเงินก้อนเตรียมไว้ให้พนักงานเมื่อเกษียณเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ถือเป็นภาระของนายจ้าง ที่ต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่ ช่วงที่ลูกจ้างเกษียณอายุ ซึ่งการเตรียมเงินก้อนใหญ่เอง นายจ้างอาจต้องเสียเวลาพิจารณาเองว่า จะนำเงินไปทำอะไรหรือลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน โดยที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ต่างไม่สามารถนำเงินก้อนนี้ไปใช้สิทธิทางภาษีได้จะดีกว่าไหม หากนายจ้างเริ่มเก็บเงินไว้ตั้งแต่วันนี้ ผ่านการจัดตั้งกองทุนฯ โดยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่เป็นผู้จัดการกองทุนนี้รับหน้าที่นำเงินไปลงทุน โดยเงินที่นายจ้างสมทบเข้ากองทุน นับเป็นรายจ่ายของบริษัทที่นำไปหักภาษีได้ ส่วนลูกจ้างเอง เมื่อสะสมเงินเข้ากองทุนนี้ ก็นำไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้เช่นกัน ขณะที่เงินลงทุนก้อนนี้ ก็นำไปหาผลตอบแทนให้งอกเงยได้ โดยที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างตรวจสอบได้ว่า บลจ. นำไปลงทุนอะไรบ้าง
ทั้งนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบ่งเป็นผลตอบแทนของเงินสะสมจากลูกจ้าง และผลตอบแทนของเงินสมทบจากนายจ้าง เมื่อถึงเวลาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุน สิ้นสมาชิกภาพ ลูกจ้างจะได้เงินสะสมและผลตอบแทนของเงินสะสม
ส่วนเงินสมทบและผลตอบแทนของเงินสมทบจากนายจ้าง หากสิ้นสมาชิกภาพเพราะเกษียณอายุก็จะได้ส่วนนี้ไปเลย แต่กรณีสิ้นสมาชิกภาพเพราะลาออกก่อน ก็ขึ้นอยู่กับข้อบังคับและเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
หากระยะเวลาทำงานไม่ถึงตามที่บริษัทกำหนดอาจไม่ได้ส่วนนี้ไปเลย หรือได้แต่ไม่ถึง 100% ซึ่งนายจ้างกำหนดได้ว่า เงินส่วนที่ลูกจ้างไม่ได้ไป จะเลือกนำกลับมาเป็นรายได้ของบริษัทในปีนั้นเลย แล้วรวมคำนวนภาษีปีนั้น หรือเลือกให้เงินกลับเข้ากองทุน เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกจ้างคนอื่นๆ
คุณวศิน กล่าวเสริมว่า โดยสรุปแล้ว ทุกบาททุกสตางค์ที่หักเงินเดือนเข้ากองทุน จะเป็นของสมาชิก (ลูกจ้าง) ที่ทำงานและอยู่ในกองทุนจนถึงเกษียณอายุ เว้นแต่จะลาออกระหว่างทาง จึงมีเงื่อนไขตามที่คุณสุริพล กล่าวไปแล้ว
สำหรับนายจ้าง ถ้าเริ่มเห็นว่า การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเรื่องดีแล้ว และกำลังจะจัดตั้งกองทุน เรื่องต่อไปที่ต้องพูดถึงคือ การเลือกนโยบายลงทุน หากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ให้พนักงานเลือกนโยบายลงทุนได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
“ถ้ามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เลือกได้ว่า จะนำเงินไปฝากไว้ในธนาคาร ซื้อหุ้น ซื้อทองคำ ซื้อพันธบัตร หรือลงทุนอื่นๆ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จว่า การลงทุนแบบไหนดีที่สุด ถ้าฝากเงินในธนาคารก็สะดวก ราคาไม่ขึ้นไม่ลง มั่นคง แต่ผลตอบแทนต่ำ เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงไม่ได้เลย ถ้าลงทุนในตราสารหนี้ ก็ดี แต่ผลตอบแทนไม่สูง หรือถ้ากล้าเสี่ยงมากๆ ลงทุนในหุ้นก็ดี มีโอกาสรับผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงเช่นกัน จึงต้องถือยาวๆ โดยรวมแล้วทุกประเภทของการลงทุนมีข้อดี แต่ต้องรู้จักใช้ให้เหมาะสม ซึ่งความเหมาะสมกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน” คุณวศิน กล่าว
คุณสุริพล กล่าวว่า ไอสไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ดอกเบี้ยทบต้น มีอานุภาพร้ายแรงกว่าปรมาณู” ดังนั้น ยิ่งเก็บเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากเท่าไหร่ และมีระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้งอกเงยมากขึ้นเท่านั้น เพราะจำนวนเงินที่เก็บไม่เหมือนการปลูกต้นไม้ ที่ไม่ว่าจะใช้เมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็แตกเป็นต้นเหมือนกัน แต่การเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท คงไม่สามารถสู้เก็บเงินเดือนละ 3,000 บาทได้
อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน คือ เวลา เพราะเวลาเป็นมิตรกับการออมเงิน ยิ่งมีระยะเวลายาวนานขึ้น ยิ่งมีโอกาสที่เงินจะงอกเงยมากขึ้น ประเด็นต่อมาคือ ผลตอบแทนที่คาดหวัง ถ้าคาดหวังผลตอบแทนสูง ลงทุนในความเสี่ยงสูงขึ้นอีกนิด ก็จะได้เห็นความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นเพิ่มขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี การลงทุนต้องสร้างสมดุลระหว่างกินอิ่มและนอนหลับ เช่น ลงทุนหุ้น อาจจะทำให้กินอิ่มแต่นอนไม่หลับ ถ้าลงทุนตราสารหนี้ อาจนอนหลับแต่กินไม่อิ่ม ดังนั้น ต้องดูสัดส่วนการลงทุนที่เราจะกินอิ่มได้และนอนหลับด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว
ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีรูปแบบนโยบายการลงทุนให้เลือก 2 ลักษณะ คือ กำหนดเป็นกรอบไว้เลยว่า แต่ละทางเลือกจะลงทุนในตราสารแต่ละประเภทสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง กับอีกลักษณะคือ ให้สมาชิกเลือกผสมผสานได้เอง หรือที่เรียกว่า DIY ในกองทุนหลากหลายประเภทตามสัดส่วนที่ตัวเองต้องการ โดยรวมกันแล้วไม่เกิน 100%
คุณวศิน กล่าวว่า เมื่อลองสอบถามเสียงส่วนใหญ่ของผู้ที่ร่วมสัมมนา “รู้งี้…ทำตั้งนานแล้ว” พบว่า ผู้เข้าร่วมงานตอบว่า ถ้ามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว อยากเลือกลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งคำตอบนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันกองทุนรวมในไทย มีหลายประเภทการลงทุน แต่การลงทุนในตราสารหนี้ คิดเป็นประมาณ 50% ของขนาดกองทุนทั้งหมด ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่แตกต่างกัน มีการลงทุนในตราสารหนี้กว่า 70% ของขนาดกองทุน
ทั้งนี้ คนแต่ละคนมีความสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากมีทางเลือกนโยบายลงทุนให้ลูกจ้างย่อมตอบโจทย์ของแต่ละคนได้ดีกว่าการมีนโยบายเดียว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การลงทุนเฉพาะในประเทศไทย สำหรับยุคนี้อาจไม่เพียงพอในแง่การกระจายความเสี่ยง เพราะ หากในไทยเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าลงทุนแต่ในประเทศก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงต้องเริ่มพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศบ้างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ
ก็เหมือนการตกปลาในทะเล แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ออกไปได้เมื่อใช้เรือขนาดใหญ่หน่อย คือ ทำผ่านกองทุน ในทางกลับกัน หากมีเพียงเรือเล็ก ก็คงทำได้ เพียงตกปลาตามชายฝั่ง
เมื่อทราบเรื่องราวดีๆ ทั้งหมดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันแล้ว คุณวศิน ให้ข้อคิดดีๆ ปิดท้ายไว้ว่า
“ไม่ต้องเก่ง ขอให้คิดเป็น
ไม่ต้องรู้มาก แต่ขอให้เข้าใจ
ไม่ต้องรอพร้อม เพราะเวลาไม่รอใคร
ไม่ต้องเชื่อใคร แต่ขอให้ลงมือทำ เพราะเวลาไม่รอท่า”
…รู้งี้กันแล้ว มาเริ่มลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่วันนี้กันดีกว่า